fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการดูแลสุขภาพเด็กอาการปอดบวมในเด็ก เป็นอย่างไร คุณแม่ต้องสังเกตและเฝ้าระวัง

อาการปอดบวมในเด็ก เป็นอย่างไร คุณแม่ต้องสังเกตและเฝ้าระวัง

โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำอย่างเด็กและคนชรา มักจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ปัจจุบันนี้เด็กป่วยด้วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อ ที่แสดงอาการปอดบวมมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถแพร่เชื้อไปให้เด็กคนอื่นได้ แม้ไม่มีอาการ จึงจำเป็นต้องระวังและป้องกันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็กวัยก่อนเข้าเรียน คุณแม่จะต้องสังเกตุและเฝ้าระวังอาการของลูกอย่างใกล้ชิด โดยจำเป็นต้องศึกษาอาการของโรค และแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้ลูกน้อยต้องมารับเชื้อปอดบวมเข้าสู่ร่างกายจนป่วยได้ ลองมาเรียนรู้กันดีกว่าเลยว่ามีอาการอย่างไรบ้าง

อาการปอดบวม เป็นยังไง

เชื้อปอดบวม เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะในเด็กเล็ก จะมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากท่อหายใจของลูกมีขนาดเล็กจะทำให้เสมหะอุดตันท่อหายใจ จนลูกหายใจลำบาก อีกทั้งลูกน้อยยังไม่รู้จักวิธีการไอ เพื่อกระตุ้นให้เสมหะออกมาเหมือนเด็กโตหรือผู้ใหญ่ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้สูง ซึ่งเมื่อลูกน้อยมีอาการปอดบวมสามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. หายใจลำบาก จนทำให้หายใจแรงขึ้น ซึ่งสังเกตได้ว่าลูกมีหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ
  2. มีไข้หรือตัวอุ่นๆรู้สึกไม่สบายตัว ซึมลง
  3. อาการเหมือนคนเป็นหวัดหรือไข้หวัด
  4. ไอแห้งๆ และไอถี่ๆ
  5. หายใจเร็ว มีเสียงหวีด
  6. ในเด็กบางรายมีอาการปวดท้อง
  7. เจ็บหน้าอก
  8. อาเจียน
  9. มีเสมหะปนเลือด หรือมีอาจมีสีเขียว ในบางรายอาจมีสีสนิม
  10. ไม่ยอมกินนมและเบื่ออาหาร

อาการปอดบวมที่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด

หากลูกป่วยรุนแรง คุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด และให้สังเกตอาการดังนี้

  1. มีไข้
  2. ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  3. หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน หรือหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋ม
  4. หายใจมีเสียงวี๊ด

สาเหตุที่ทำให้ปอดบวม

โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของปอด เกิดได้จาก

  • การติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
  • เกิดจากได้รับสารเคมี หรือยาบางชนิด เคยพบในคนไปกินน้ำมันก๊าดโดยไม่ตั้งใจ ก็จะเกิดอาการปอดบวม ได้

ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรค ประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่า และมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากภาวะร่างกายที่มีภูมิต้านทานต่ำ

วิธีรักษาอาการปอดบวม

สำหรับคำแนะนำในการรักษาอาการปอดบวมควรทำอย่างไรบ้าง

  1. ให้ดื่มน้ำมากๆ
  2. แต่ถ้ารายที่หอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดรับประทานอาหารทางปากเพื่อป้องกันการสำลัก
  3. ให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
  4. ให้ยาขยายหลอดลมสำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
  5. กินยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ ในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่
  6. ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไอเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด

ถ้าอาการปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยทั่วไปไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ รวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม ด้วยการเคาะปอด การดูดเสมหะ แต่สำหรับกรณีที่ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียารักษาเฉพาะ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจได้รับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย ส่วนอาการปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิด จนกว่าอาการปอดบวมจะหายขาดได้

ป้องกันลูกรักจากปอดบวม

วิธีป้องกันโรคปอดบวมที่ทำได้ดีที่สุดคือ

  1. การนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามวัยในตารางที่แพทย์กำหนด และหากมีความจำเป็นก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี เพื่อป้องแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี”  ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ควรนำลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น
  2. ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนควรเลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยลดการเกิดอาการแพ้ต่างๆ ได้ง่าย
  3. หากอากาศหนาวเย็นให้สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค และไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย
  5. ไม่นำเด็กเล็กไปสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ดังกล่าว
  6. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นควันพิษที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ
  7. ฝึกให้เด็กล้างมือบ่อยๆ รวมถึงดูแลบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
  8. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเลี้ยงเองที่บ้าน เพราะจะได้ดูแลใกล้ชิดจะป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง
  9. หากเด็กไอและหายใจลำบาก รวมถึงมีอาการหอบ หายใจเร็ว และแรง พร้อมทั้งมีเสียงดัง ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
  10. ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อได้ง่าย

การดูแลสุขภาพของลูกน้อยด้วยการให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และนำลูกไปรับวัคซีนครบตามกำหนดจะเป็นการช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือคุณพ่อคุณแม่ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อย มีโอกาสไปสัมผัสเชื้อโรค โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำที่มีในบทความนี้ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยห่างไกลจากการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดบวมได้

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular