นับว่าเป็นข่าวดีของคุณแม่หลายๆท่านที่มีความตั้งใจแน่วแน่ว่าหากถึงกำหนดคลอดเมื่อไร ต้องการที่จะคลอดด้วยตัวเองตามธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคุณแม่หลายๆท่านยังกังวลถึงเรื่องความเจ็บปวดในการคลอดธรรมชาติ ดังนั้นทางทีมพยาบาลและแพทย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จึงได้มีการคิดค้นเทคนิคการทำคลอดแบบใหม่ชื่อว่า ท่าแมว หรือ PSU Cat position และการจัดท่า PSU locked Up-Right เป็น 2 ท่านวัตกรรมที่จะช่วยทำคลอดธรรมชาติของคุณแม่ ใช้เวลาสั้นขึ้น และเจ็บปวดลดลง อย่างมีนัยยะสำคัญ
การจัดท่ารอคลอด
การจัดท่ารอคลอด คือการยกหัวเตียงให้สูงแล้วหันหน้าเข้าหาเตียง โดยที่เข่า อยู่ติดพื้นเตียง คนไข้โน้มไปข้างหน้า ใบหน้าลำตัวส่วนบนทิ้งไปที่หัวเตียงโดยมีหมอนรอง ท่านี้จะทำให้การเคลื่อนตัวของทารกเร็วลงมาตามแรงโน้มถ่วง ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ดี แรงขับเด็กของมดลูกก็จะดีขึ้น
การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงมดลูกก็ดีขึ้น ในขณะที่ท่านอนหงายจะทำให้เกิดการกดทับของเส้นเลือดมากกว่า เนื่องจากมดลูกปกติจะอยู่ด้านหน้าส่วนเส้นเลือดจะอยู่ด้านหลัง

การใช้ท่า PSU Cat นั้นจะทำให้การรอคลอด หรือ Active Fase จากที่ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 7.8 ชั่วโมง จะลดลงเหลือ 3.1 ชั่วโมง
การศึกษายังได้ใช้ท่านี้ครึ่งชั่วโมงสลับกับท่านอนหัวสูงครึ่งชั่วโมง และใช้ร่วมกับยาเร่งคลอด รวมทั้งให้ฟังดนตรีประกอบ ปรากฏว่าใช้เวลาระยะ Active Fase ไม่ถึง 3 ชั่วโมง หรือ 152 นาที โดยเฉลี่ย ย่นระยะเวลาและความเจ็บปวดได้มาก เป็นท่านวัตกรรมซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน
รศ.ดร.ศศิธรเผยต่อว่า เดิมเป็นท่าออกกำลังกาย ลดการปวดหลังระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีใครใช้ในระยะคลอด จึงคิดว่าทำไมไม่ลองนำท่าที่มีลักษณะแนวตั้ง ให้แรงโน้มถ่วงดึงเด็กลงมาทดสอบดู โดยพบว่าปากมดลูกเปิดเร็วขึ้น แต่การใช้ท่านี้ต้องทำในจุดที่ปลอดภัยเท่านั้น นั่นคือหัวเด็กลงมาชิดกับเชิงกรานข้างล่างแล้ว สายสะดือจะไม่ชักต่ำมาพันคอเด็กได้
สำหรับในท่าต่อมา จะใช้ในระยะเบ่งคลอด ซึ่งคนไข้จะปวดมากที่สุด โดยทั่วไปใช้เวลาเฉลี่ย 1 ชั่วโมง สิ่งที่ทำก็คือการใช้หมอนมารอง หรืออัดที่หลัง เป็นที่มาของท่า PSU Locked-Upright position โดยจัดให้เข่ามาชิดอก แล้วนำหมอนหนุนเอวหรือหลังเอน 30-40 องศา จะทำให้เชิงกรานช่องออกเปิดกว้าง ทำให้ลดเวลาเหลือ 16 นาที จากทั่วไปหนึ่งชั่วโมง
ระยะเวลาคลอดน้อยลง ก็คือความปลอดภัยของแม่และลูก คนไข้เกิดประสบการณ์การคลอดในทางบวก และคลอดธรรมชาติก็ใช้เงินน้อยกว่าการผ่าคลอดมาก ซึ่งขณะนี้ทาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้จดอนุสิทธิบัตรแล้ว อยู่ในขั้นเขียนแบบเตียงไฟฟ้า เพื่อพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป
คุณแม่ท่านใดที่สนใจคงต้องรอกันอีกสักหน่อย หากมีความคืบหน้าว่าสามารถนำมาใช้ได้จริงแล้วทางทีมงานจะนำเสนอข่าวให้ทราบอีกทีนะคะ
ที่มา: นสพ.ข่าวสด
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- คุณแม่มือใหม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเอาหัวลงแล้ว?
- 5 เคล็ดลับ!! ทำอย่างไรให้คลอดลูกง่ายๆ
- โกนขนอวัยวะเพศกับการสวนอุจจาระก่อนคลอด