ละครไทยก็แสดงออกได้ชัดเจนว่า เด็กที่ถูกตามใจจากครอบครัวส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมอย่างไร เช่น สมาธิสั้น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่รู้จักการรอคอย และเด็ก ๆ จะคิดว่าตนเป็นศูนย์กลางของโลก ทุกคนต้องหมุนรอบตัวและตามใจเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วสังคมไม่ใช่ครอบครัวที่มีแค่พ่อแม่และลูกนะคะที่จะคอยตามใจเขาอยู่เสมอ ยังมีคนอีกมากมายที่แตกต่างทางความคิด และวิธีปฏิบัติอีกด้วย การตามใจลูกมากเกินไปอาจเป็นการทำร้ายเขาทางอ้อมเมื่อเขาต้องดำเนินชีวิตในสังคมในภายภาคหน้าค่ะ..
คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจ ธรรมชาติของลูกน้อยว่า ตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป เป็นช่วงที่เขาจะเริ่มหาและพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองแล้ว และมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง เด็กจึงมักเรียกร้องที่จะเอานู่นเอานี่ อยากเล่นอยากลองตามประสาเด็ก เรื่องบางอย่างจึงต้องปล่อยให้เค้าได้ทำ ได้เล่น ได้คิดเอง ถ้าเรื่องไม่หนักหนา และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเค้า ไม่ใช่ว่าจะห้ามปรามเค้าทุกอย่าง แต่พ่อแม่ก็ต้องมีขอบเขตที่แน่นอนในการเลี้ยงดูด้วยค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีดูแลลูกให้เหมาะสม สิ่งใดที่ถูก หรือผิดก็ควรแนะนำด้วยเหตุผลและใส่ใจในสิ่งที่เขาทำลงไป เมื่อผ่านพ้นช่วงเรียนรู้ไปแล้ว เด็กจะกลับมาเป็นลูกน้อยที่น่ารักและไม่ใช่เด็กที่ต้องการใคร ๆ มาตามใจ หรือคุณตั้งกฎกติกาที่ครอบคลุมในวงกว้าง แต่ไม่ตีกรอบการกระทำของเขา เช่น เมื่อลูกโมโหหรือโกรธ ห้ามทำลายหรือขว้างปาข้าวของ เพราะคุณไม่ชอบหรือจะเป็นการทำร้ายคนอื่นด้วย เพื่อหยุดพฤติกรรมของตัวลูกเอง ให้เค้าเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองเวลาที่เค้าโกรธ หรือไม่พอใจ เพื่อฝึกการควบคุมตัวเองตั้งแต่เป็นเด็ก และทุกคำสอนจากปากคุณไม่ควรใช้น้ำเสียงในเชิงดุ แค่ชักชวนง่าย ๆ เขาก็ทำตามแล้ว..
จาก : แม่รักลูก Photo Credit : gomighty.com