ระยะการตั้งครรภ์ของคุณแม่ถึงกำหนดคลอดเฉลี่ยที่ 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ โดยคำนวณจากการที่คุณมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปแล้วการคลอดบุตรนั้นอาจคลอดก่อนหรือหลังเพียงสัปดาห์หรือสองสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งทารกที่คลอดออกมาจะมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่ในบางครั้งหากเกิดเหตุสุดวิสัยแล้ว โอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดก็เกิดขึ้นได้
ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดนั้น ทารกจะถูกนำตัวไปไว้ที่ตู้อบเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัยของชีวิต นับเป็นช่วงบีบหัวใจของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มากเลยทีเดียว
แบบไหนเรียกว่า คลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Birth) ทางการแพทย์ระบุไว้ว่า หากเป็นการคลอดทารกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่แล้วทารกมักมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อย” ถ้าคลอดก่อนอายุครรภ์ 30-32 สัปดาห์ ทารกจะมีน้ำหนักเฉลี่ยน้อยกว่า 1,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อยมาก”
สาเหตุของการ คลอดก่อนกำหนด มีมากมาย เช่น
- คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงอายุต่ำกว่า 17 ปีหรือมากกว่า 35 ปี
- เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อนแล้ว ทางแพทย์เชื่อว่าระบบอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บท้องคลอดของคุณแม่คงมีการทำงานผิดปกติ
- คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต ทำให้ทารกในท้องเจริญเติบโตได้ไม่ดี ตัวเล็ก และคลอดก่อนกำหนดได้
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ทำงานหนักเกินไป อาทิ งานที่ใช้แรงมาก หรืองานที่นั่งนานเกินไป
- ปัญหาและภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์แฝด, เลือดออกขณะตั้งครรภ์ หรือได้รับการกระแทกที่รุนแรง
ปัญหาของทารกคลอดก่อนกำหนด
ปัญหาของทารกคลอดก่อนกำหนด มีมากมาย เช่น น้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการของร่างกายยังทำได้ไม่สมบูรณ์ ปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่นักทำให้มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ หายใจเร็ว ทารกมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีปัญหาเลือดออกในสมอง มีโอกาสที่สมองพิการเกิดขึ้นได้ง่าย ระบบการทำงานและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทารกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงส่งผลต่อชีวิตของทารกเป็นอย่างมาก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นมีโอกาสที่จะเสียชีวิตและมีความพิการสูง
นอกจากนั้นปัญหาที่อาจพบก็เป็นภาวะไม่สมดุลอื่น ๆ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะอาหารสะสมของทารกแรกเกิดที่ตัวเล็กมีน้อย เมื่อตัดสายสะดือแล้วเขาจะไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำตาลจากแม่แล้ว เด็กที่ตัวใหญ่สะสมมาเยอะก็จะโอเค และพบภาวะความเข้มข้นของเลือดสูง เลือดหนืดกว่าปกติ เกิดจากเด็กทารกบางรายขาดออกซิเจนระหว่างอยู่ในครรภ์ ทำให้ร่างกายต้องผลิตเม็ดเลือดมากขึ้น เลือดเขาก็จะมีความเข้มข้นเยอะ เพื่อนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ให้เพียงพอ
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลทารกในโรงพยาบาล เพราะทารกต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดรวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ ยิ่งทารกจำเป็นต้องอยู่ที่โรงพยาบาลนานเท่าไรค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโรงพยาบาลเอกชน
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- 5 สัญญาณเตือนอาการคลอดก่อนกำหนด มีอะไรบ้าง
- คลอดก่อนกำหนด ความเสี่ยงที่คุณแม่ควรรู้
- ทำไมแม่ท้องจึงต้องลดการกินเค็มหรือเลิกกินเค็ม?