fbpx
Homeการตั้งครรภ์การคลอดและหลังคลอดลูกไม่ยอมกลับหัว หรือ ทารกท่าก้น อันตรายถึงชีวิต!

ลูกไม่ยอมกลับหัว หรือ ทารกท่าก้น อันตรายถึงชีวิต!

โดยปกติแล้วทารกที่พร้อมจะออกสู่โลกภายนอกจะกลับหัว หรือเอาศีรษะเป็นส่วนนำในการคลอด เป็นท่าที่เหมาะสมกับการคลอดธรรมชาติมากที่สุด แต่มีเปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยที่ทารกไม่ยอมกลับหัว หรือเอาก้นเป็นส่วนนำตอนคลอด ทางการแพทย์เรียกว่า ทารกท่าก้น (Breech presentation) ทารกท่าก้น ยังแบ่งย่อยได้อีก โดยแบ่งได้ 3 ลักษณะดังนี้ค่ะ

  1. Extended Breech หรือ Frank Breech : ทารกจะอยู่ในท่านั่ง งอข้อสะโพก ขาเหยียดตรง ขึ้นไปแนบใบหน้า (พบท่านี้บ่อยที่สุด)
  2. Flexed Breech หรือ Incomplete Breech : ทารกอยู่ในท่านั่ง งอข้อสะโพกและข้อเข่า โดยเท้าทั้ง 2 ข้างอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าก้นเล็กน้อย
  3. Footling Breech : ทารกอยู่ในท่านั่ง แต่งอสะโพกน้อยกว่าท่า Flexed Breech และเท้าอยู่ต่ำกว่าระดับของก้น

เมื่อทารกไม่ยอมกลับหัว หรืออยู่ในท่าก้นแล้ว อันตรายที่จะตามมาคือ การเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ระหว่างคลอด หรือหลังคลอด สูงขึ้น 2 – 4 เท่า หรือเกิดความผิดปกติของร่างกายทารก และเป็นอันตรายต่อคุณแม่โดยการเสี่ยงติดเชื้อ เสียเลือด ช่องคลอดฉีกขาด ซึ่งการคลอดทารกท่าก้นนี้ถือเป็นท่าคลอดของทารกที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการคลอดโดยธรรมชาติอย่างแท้จริง

 

คุณแม่ที่เสี่ยงต่อการคลอดบุตรในท่าก้น มีดังนี้

1.คุณแม่ที่คลอดบุตรในช่วงที่อายุครรภ์ไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่คลอดบุตรในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ มีโอกาสอยู่ในท่าก้น 22% ถ้าอยู่ในช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์โอกาสจะลดลงเหลือ 7%  และพบเพียง 1-3% ในทารกอายุครรภ์ครบกำหนด

2.คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด ส่งผลให้พื้นที่ในครรภ์มีน้อยทารกไม่สามารถหมุนตัวได้

3.คุณแม่ที่มีเนื้องอกภายในมดลูก ซึ่งจะส่งผลให้ไปขัดขวางการหมุนตัวของทารก

4.คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ก็จะเป็นการขัดขวางการหมุนตัวของทารกเช่นกัน

5.คุณแม่ที่มีความผิดปกติของโพรงมดลูก

6.ปริมาณน้ำคร่ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป กรณีคุณแม่มีน้ำคร่ำมากเกินไปส่งผลให้ทารกในครรภ์หมุนตัวได้มากเกินไป ส่วนคุณแม่ที่น้ำคร่ำน้อยเกินไปก็จะส่งผลให้ทารกหมุนตัวไม่ได้

7.ทารกมีความผิดปกติด้านรูปร่าง เช่น หัวโตเกินไป มีน้ำในส่วนโพรงสมอง Hydrocephalus หรือ Anencephaly

คุณแม่จะทราบได้ว่าทารกอยู่ในท่าใด รู้สึกได้ด้วยตัวเอง เมื่อร่างกายของทารกโตขึ้น ศีรษะจะอยู่ส่วนบนหรือใต้ลิ้นปี่ของมารดา จะรู้สึกว่ามีก้อนกลมแข็ง ๆ ดันอยู่ได้ หรือการคลำของสูติแพทย์ และการตรวจภายในซ้ำอีกครั้ง เพื่อดูการบิดงอของส่วนสำคัญในร่างกายทารก หากเกิดทารกท่าก้นแล้ว แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ซ้ำอีกครั้งตอนอายุครรภ์ประมาณ 34-36 สัปดาห์

สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือต้องไปพบแพทย์เป็นประจำ จนถึงสัปดาห์ใกล้คลอดและถ้าหากทารกยังไม่ยอมกลับหัว คุณหมอจะแนะนำว่าให้ผ่าคลอดเพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่และทารก หรือ หมุนเปลี่ยนทารกจากท่าก้นให้เป็นท่าศีรษะจากภายนอก ( External cephalic version) และให้คลอดท่าศีรษะ เพราะการคลอดท่าศีรษะจะง่ายกว่า และมีอันตรายต่อทารกน้อยกว่าการคลอดในท่าก้น ซึ่งแพทย์มักจะทำการหมุนเปลี่ยนท่าตอนอายุครรภ์ 36-37 สัปดาห์ ก่อนที่คุณแม่จะมีอาการเจ็บครรภ์

สำหรับคุณแม่ที่มีประวัติคลอดบุตรในท่าก้น โอกาสที่ครรภ์ต่อไปลูกจะคลอดในท่าก้นเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีคุณแม่มีความผิดปกติของร่างกาย เช่น มีเนื้องอกในมดลูก คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ โพรงมดลูกผิดปกติ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นคุณแม่จึงควรไปพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ทุกครั้งตามนัด เพื่อที่จะได้ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นและหาวิธีรับมือได้ค่ะ

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular