fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการดูแลสุขภาพเด็กหลงตัวเอง โรคทางจิตเวชในเด็ก ที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

หลงตัวเอง โรคทางจิตเวชในเด็ก ที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

หลงตัวเอง หรือ NPD เป็นอาการทางจิตเวชที่ทำให้เด็กมีบุคลิกที่ชอบคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ชอบยกยอตัวเองเกินไป ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น โดยมักจะยืดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และมักจะคิดถึงแต่เรื่องของผลประโยชน์จากผู้อื่นมาเป็นอันดับแรกเสมอ ถึงแม้จะมองว่าเป็นบุคลิกของคนๆ นั้นแต่ทางการแพทย์มองว่าเป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม โรคหลงตัวเองเกิดจากอะไร และจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นโรคนี้ มาดูคำตอบกันในบทความนี้

หลงตัวเอง โรคนี้เกิดจากอะไร

โรคหลงตัวเอง เป็นอาการทางจิตเวชที่ทำให้เด็กมีบุคลิกที่แปลกจากเด็กทั่วไปคือชอบยกยอตัวเองเกินไป ชอบจะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่นเสมอ และชอบจะโอ้อวดตัวเองเช่น ฐานะทางบ้าน รูปร่างหน้าตา เชื่อว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าคนอื่น โรคนี้มีสาเหตุเกิดจาก พันธุกรรม การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม บ้านที่มีเด็กป่วยเป็นโรคหลงตัวเองส่วนใหญ่มักจะมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงด้วยความคาดหวัง หรือตามใจลูกมากจนเกินไป จนเด็กรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญมากกว่าคนอื่น จึงมองว่าคนอื่นด้อยกว่า หรือเกิดจากการเลี้ยงดูเชิงลบที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เมื่ออยากเป็นที่ยอมรับของสังคมจึงสร้างความคิดหลงตัวเองขึ้นมา เพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น

อาการบ่งบอกว่าลูกเป็นโรคหลงตัวเอง

หลงตัวเองไม่ใช่โรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่โรคดังกล่าวมีมานานแล้ว ซึ่งเราส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นพฤติกรรมของคนๆ นั้น แต่ในทางการแพทย์มองว่าเป็นอาการทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา โดยเด็กที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวจะมีวิธีสังเกตอาการง่ายๆ ดังนี้

  • ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น
  • มักจะมองว่าตัวเองเป็นคนสำคัญอยู่เสมอ และจะเห็นว่าตัวเองมีความพิเศษเหนือกว่าคนอื่นๆ ทุกด้าน
  • มักจะหมกมุ่นในเรื่องของอำนาจ ความสำเร็จ ความรวย ความรักในอุดมคติของตัวเอง
  • คิดว่าตัวเองสมควรได้อภิสิทธิ์ต่างๆ มากกว่าคิดอื่น อย่างไม่มีเหตุผล
  • แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
  • ขาดความเห็นใจ และนึกถึงผู้อื่น
  • มีความอิจฉาเมื่อเห็นคนอื่น ประสบความสำเร็จ หรือมักจะคิดว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง
  • มีความคิด หรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง หลงตัวเอง
  • มีเพื่อนน้อย เพราะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง และยังชอบสั่งคนอื่นมากกว่า เพื่อนจึงไม่ค่อยอยากจะเล่นด้วย

รักษาได้อย่างไรเมื่อลูกเป็นโรคนี้

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการคล้ายกับอาการของโรคNPD หรือหลงตัวเอง ก็สามารถนำมาปรึกษาพูดคุยกับจิตเวชเด็ก โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าเด็กมีอาการของโรคหรือไม่ด้วยการพูดคุย และอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงความรัก และถามถึงมุมมองด้านคุณค่าของตัวเอง หากพบว่าเด็กมีอาการของโรค NPD ก็จะพูดคุยปรับพฤติกรรมและความคิดแง่ลบของเด็ก ด้วยการบำบัดด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ และแพทย์ก็จะร่วมพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้เข้าใจในตัวลูก และหากรุนแรงก็อาจจะใช้ยาช่วยในการรักษาร่วมด้วย

วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคหลงตัวเอง

วิธีป้องกันโรคหลงตัวเอง ยังไม่มีแน่ชัดในทางการแพทย์ เนื่องจากว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้ เพราะฉะนั้นหากไม่อยากให้ลูกป่วยเป็นอาการ หลงตัวเอง การเลี้ยงดูจากครอบครัวจึงสำคัญมาก หากพบว่าลูกมีอาการของโรคควรพาไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาบำบัด รวมถึงบุคคลในครอบครัวควรเข้ารับการบำบัดเพื่อนเรียนรู้ที่จะสื่อสารและรับอารมณ์ของผู้ป่วย และการป้องกันโรค NPD สามารถป้องกันได้ดังนี้

1.ไม่ประเมินความสามารถของลูกเกินจริง

คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงลูกแบบไม่ต้องประเมินความสามารถของลูกว่าต่ำหรือสูงเกินจริง การประเมินว่าสูงเกินไปเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ลูกหลงตัวเอง โดยงานวิจัยพบว่าพ่อแม่ที่คลั่งไคล้ลูกตัวเองเชื่อว่าลูกมีความสามารถและฉลาดเหนือกว่าคนอื่นๆ เสี่ยงที่จะทำให้ลูกกลายเป็นคนหลงตัวเอง

2.ไม่เปรียบเทียบลูกตัวเองกับเด็กคนอื่น

หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ซึ่งพ่อแม่หลายคนมักจะมองว่าลูกมีสถานะเหนือกว่าเด็กคนอื่น และมักจะสื่อสารกับลูกทำนองว่าลูกเก่งกว่า แทนที่จะเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ควรแนะนำให้ลูกทำปัจจุบันให้ดีขึ้นกว่าอดีตและบอกว่าดีขึ้นกว่าอย่างไร เพราะจะทำให้ลูกเกิดความภูมิใจในตัวเองมากกว่า

3.จริงใจในการชื่นชมลูกแบบไม่เวอร์เกินไป

พ่อแม่ที่ชื่นชมลูกหรือคลั่งไคล้ลูกตัวเองมักจะชมลูกสุดโต่งหรือชมมากเกินความเป็นจริงอย่างเช่น ภาพวาดของลูกสวยที่สุดที่พ่อแม่เคยเห็นมา แต่หากเป็นคำชื่นชมอย่างซื่อสัตย์ก็อาจจะเป็น  ลูกทำได้ดีมากในการเขียนรูปนี้เป็นต้น

4.ความรักที่มีเงื่อนไขจากพ่อแม่

เด็กส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคหลงตัวเอง มักจะได้รับความรักจากพ่อแม่โดยที่มีเงื่อนไขกล่าวคือ ความรักที่พ่อแม่มีต่อเขานั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาทำได้ ในขณะเด็กที่เห็นความสำคัญของตัวเองนั้นมักมีพ่อแม่ที่รักอย่างไม่มีเงื่อนไข

หลงตัวเองไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงถึงขั้นชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความแปลกแยกให้กับลูกได้ หากสังเกตว่าลูกมีอาการของโรคดังกล่าว ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษา หาแนวทางรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น เพราะจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของลูกในอนาคตได้

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular