fbpx
Homeเรื่องน่ารู้ข่าวแพทย์แนะนำ! เมื่อเด็กตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรต่อไป

แพทย์แนะนำ! เมื่อเด็กตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรต่อไป

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise โดยระบุว่า ATK 2 ขีดแล้ว อย่างไรต่อไปสำหรับเด็กๆ

 

ตอนนี้พูดเรื่องป้องกัน ดูเหมือนจะสายไปแล้วครับ   และคาดว่า ประชาชนก็น่าจะรู้อยู่แล้วล่ะครับ แต่แม้พยายามแค่ไหน มันก็ ติดเชื้อได้…

ดังนั้น มาพูดกันดีกว่าครับว่า ถ้าติดเชื้อ ATK 2 ขีดแล้วจะทำอย่างไรต่อ

ผมจะขอเน้นเรื่องของเด็ก นะครับ อ้างอิงแนวทางจากราชวิทยาลัยกุมารฯ

 

#ก่อนATK2ขีด ศึกษาก่อนเลยครับ

  1. สิทธิ์การรักษาของเราอยู่ที่ไหน รพ.อะไร รพ.สต.หรือ อนามัยอะไร ใน ต่างจังหวัด ถ้ากรุงเทพก็จะลำบากหน่อยครับ แต่ละพื้นที่แต่ะจังหวัดก็มีแนวทางการให้บริการแตกต่างกัน (นี่คือเรื่องปกติแบบไทยๆ)  เกิด 2 ขีดขึ้นมาจะได้ไปถูก
  2. ยาสามัญที่จำเป็นเมื่อป่วยเช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ น้ำเกลือแร่ ยาแก้อาเจียน เหล่านี้ ซื้อติดบ้านไว้ได้เลย หากป่วยจะได้ไม่ต้องวิ่งหายาครับ
  3. เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว… มีได้ก็ดี ราคาไม่สูงมาก ร้านขายยาก็มีขายครับ กดเอาตาม online ต้องระวังไม่ได้มาตรฐานไม่ผ่านอย.เครื่องมือแพทย์

 

#ATK2ขีดแล้ว อันนี้พูดแบบประชาชนทั่วไป ไม่อิงนิยามระบาดอะไรเลยนะครับเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ 

2 ขีด คือ เชื่อได้ว่า น่าจะติดเชื้อแน่ๆ หลายที่ไม่มีการ confirm PCR เว้นแต่จะต้องเข้ารพ. หรือ กรณีอื่นๆ …

แต่สรุปคือ ติดเชื้อแล้วล่ะ ที่นี้ก็ว่ากันด้วยเรื่องการรักษาตัว

 

#ต้องนอนโรงพยาบาลไหม  กลุ่มเสี่ยงรุนแรงเช่น ไข้สูง39องศาต่อเนื่องเกิน 1วัน ซึม ชัก กินไม่ได้ อาเจียนมาก หอบเหนื่อย เหล่านี้ควรได้รับการตรวจเพื่อพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ต้องนอนรพ.หรือไม่ (ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการดังกล่าวก็น่าจะนอนล่ะครับ)

กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ต่ำกว่า 39 องศาไม่ต่อเนื่อง เจ็บคอ พอกินได้ หรือไม่มีอาการ สามารถรักษาตามอาการ “อยู่ที่บ้าน” หรือเข้าระบบ Home isolation (ถ้ามีระบบ) ทานยาลดไข้  เช็ดตัว

หากมีอาการไข้ต่อเนื่อง เช่น 39 องศาต่อเนื่องเกิน 1 วัน หรือ อาการแย่ลง ซึมลง กินไม่ได้ อ่อนเพลียมาก

อันนี้ควรมาตรวจเพิ่มเติมที่รพ.  เพื่อประเมินว่าต้องรับการรักษาในรพ.หรือไม่

 

#ต้องกินยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียไหม 

คำตอบคือ “ไม่จำเป็นสำหรับทุกราย”  โดยส่วนใหญ่ หากอาการเล็กน้อย หรือ ไม่มีอาการ

ไม่จำเป็นต้องทานยาต้านไวรัส แต่ในรายที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเช่น….  อายุน้อยกว่า 1 ปีและมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง ได้แก่

  1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
  2. อ้วน
  3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
  4. โรคไตวายเรื้อรัง
  5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  6. โรคเบาหวาน
  7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

เหล่านี้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส >> นั่นแปลว่า ต้องไปรับการรักษาที่รพ. หรือ สถานบริการก่อน เพื่อตรวจและเข้าถึงยาต้านไวรัส ในรายที่มีการรุนแรงขึ้น ก็จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวีย เช่นกัน

 

#ส่วนใหญ่อาการของโรคเป็นอย่างไร >> ในเด็กที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ อาการไข้ ดูอ่อนเพลีย หนักๆอยู่ 2-3 วันแรก   ถ้ากินได้ ประคองตัวไปได้  หลังจากนั้น ไข้จะลดลง เหลืออาการเจ็บคอ เสียงแหบ ได้นานถึง 7 วัน …  สู้ๆนะครับ

 

#กักตัวอยู่บ้านกี่วันจึงจะปลอดภัย >> อย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ ATK 2 ขีด นั่นแหละครับ โอกาสแพร่กระจายเชื้อก็ลดลงไปมาก แต่ยังแนะนำให้ สวมหน้ากากขณะออกไปนอกบ้าน  แต่ผมแนะนำที่อย่างน้อย 14วัน  อันนี้เชื้อน่าจะน้อยมากๆ (ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นภูมิคุ้มกันปกตินะครับ)  และโอกาสแพร่เชื้อน่าจะน้อยมากๆ  เช่นกัน

 

#ต้องตรวจATKซ้ำไหม  ไม่มีคำแนะนำชัดเจนเรื่องนี้ แต่โดยทั่วไป

หลัง 7 วัน ATK มักให้ผลเป็นลบ (ขีดเดียว) มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกว่า

ถ้า ATK ขีดเดียว ก็น่าจะเชื่อว่า โอกาสแพร่เชื้อต่อน้อยมาก

อันนี้ก็แล้วแต่ครับ  แต่โดยทั่วไป ถ้ากักตัวรักษา ครบ 14 วัน

(ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันปกติ) ไม่ต้องตรวจอะไรซ้ำแล้วครับ

 

#MISCจะมาไหมจะดูอย่างไร MISC หรือ การอักเสบในหลายๆระบบของร่างกายตามหลังการติดเชื้อโควิด19 พบได้มากขึ้น แม้จะไม่บ่อย แต่ก็พึงเฝ้าระวังโดยเฉพาะหลังติดเชื้อ ช่วง2-6สัปดาห์ หลังจากนั้นโอกาสพบจะลดลงอาการหลักๆ ก็ไข้สูง อ่อนเพลีย  ผื่นตามตัว มือเท้าแดง  ซึ่งหากสงสัยควรพบไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา

#ยังต้องรับวัคซีนป้องกันโควิดไหม อายุ 5 ปีขึ้นไป ยังต้องรับให้ครบ โดยห่างจากการติดเชื้อไปนาน 3 เดือน (นับตั้งแต่วันที่ ATK 2 ขีด)

ทั้งหมดคือ “คำแนะนำเบื้องต้น” เมื่อ ATK 2 ขีด หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ในสถานการณ์ ที่เด็กป่วยจำนวนมากขณะนี้

แต่ที่สำคัญมากๆคือ เด็กอายุน้อยมากๆ ยังบอกเราไม่ได้ ยิ่งต้องตามดูอย่างใกล้ชิด ถ้าอาการเปลี่ยนแปลง ดูแย่ลง ซึมลง กินไม่ได้

ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และได้รับยาต้านไวรัสตามข้อบ่งชี้ครับ….

ป้องกัน อย่าให้ติดเชื้อ ไว้ก่อนดีที่สุด… ครับ

 

*** ข้อมูลดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต หากมีข้อมูลใหม่

ขอให้ทุกท่านปลอดภัยครับ

#หมอจิรรุจน์

กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ

 

ที่มา: Jiraruj Praise 

 

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular