fbpx
Homeการตั้งครรภ์การคลอดและหลังคลอดแจ้งเกิดลูก ช้าเกินกำหนดต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง

แจ้งเกิดลูก ช้าเกินกำหนดต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง

เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นมือใหม่ควรเตรียมเอกสารสำคัญให้พร้อม เพื่อที่จะสามารถนำไปแจ้งเกิดให้กับลูกตามเวลาที่กำหนด และในปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งก็มีบริการแจ้งเกิดให้ซึ่งถือเป็นความสะดวกสบายให้กับคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้เป็นอย่างมาก แต่หากแจ้งเกิดช้าเกินกำหนดจะเกิดความยุ่งยากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพยาน เอกสารต่างๆ รวมถึงค่าปรับอีกด้วย ซึ่งกรณีที่ แจ้งเกิดลูก ช้าจะต้องทำอย่างไร และจะต้องไปแจ้งเกิดที่ไหน ใครต้องเป็นคนไปแจ้ง วันนี้เรามีคำตอบมาให้กันแล้ว

แจ้งเกิดลูก ช้า ต้องทำอย่างไร

หลังจากลูกคลอดคุณพ่อคุณแม่ควรดำเนินการ แจ้งเกิดลูก ทันที เพราะหากแจ้งเกิดช้าเกินที่กำหนดไว้หลังจากที่เด็กเกิด 15 วันจะมีระโทษปรับ 1,000 บาท และจะต้องใช้เอกสารใบรับรองการเกิดจากทางโรงพยาบาลที่ทำคลอด รวมถึงจะต้องนำพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำประกอบด้วย ซึ่งพยานที่ต้องนำมาก็คือผู้ทำคลอด หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การทำคลอด ผู้ที่มีฐานะมั่นคงเชื่อถือได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่ติดต่อมาทำใบแจ้งเกิดไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือจะเป็นข้าราชการสัญญาบัตรอย่างน้อย 2 คนมาเป็นพยานยื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิด ซึ่งถือเป็นความยุ่งยากมาก ถ้าไม่อยากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบไปแจ้งเกิดลูก ตามกำหนดเวลาจะดีที่สุด

เอกสารในการแจ้งเกิด

ใกล้กำหนดคลอดแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวให้พร้อมจัดเตรียมเอกสารสำคัญต่างๆ ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องใช้ในการแจ้งเกิดให้กับลูก เพราะปัจจุบันการแจ้งเกิดลูกนั้นสามารถดำเนินการในโรงพยาบาลได้เลย แต่หากเอกสารไม่พร้อมและต้องมาแจ้งเกิดภายหลัง คุณพ่อคุณแม่ที่แจ้งเกิดลูกช้า หรือแจ้งเกิดเกินเวลาที่ทางกฎหมายกำหนดไว้ 15 วัน จะต้องระวางโทษปรับ 1,000 บาท และต้องเตรียม เอกสารแจ้งเกิด ดังต่อไปนี้เพื่อเดินทางไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนตามท้องที่ที่เด็กเกิด

  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่ต้องการย้ายชื่อเด็กเข้า
  • บัตรประชาชนของผู้แจ้งหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย บัตรประชาชนของบิดามารดา
  • หนังสือรับรองการเกิดจากทางโรงพยาบาลที่เด็กเกิด
  • พยานบุคคลที่ให้การรับรอง และบัตรประชาชนของพยานบุคคล
  • กรณีเด็กที่แจ้งเกิดมีอายุครบ 7 ปีแล้วจะต้องมีรูปถ่ายของเด็ก 1 ใบแนบมาด้วย

ขั้นตอนการยื่นขอแจ้งเกิด

  • ผู้แจ้งยื่น เอกสารแจ้งเกิด ต่อนายทะเบียน
  • นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารและหลักฐาน เปรียบเทียบความผิด และสอบสวนผู้แจ้งเพื่อขอทราบสาเหตุที่ไม่สามารถแจ้งเกิดในเวลาที่กำหนดไว้
  • นายทะเบียนทำการบันทึกสาเหตุและหลักฐานการแจ้งเกิดเอาไว้
  • นายทะเบียนทำการลงรายการในสูติบัตรเพิ่มชื่อเด็กลงในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
  • นายทะเบียนมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนให้แก่ผู้ที่มาแจ้งเกิดเด็ก

แจ้งเกิดลูกเข้าทะเบียนบ้านใคร

แจ้งเกิดลูกเข้าทะเบียนบ้านไม่ได้กำหนดว่าคุณพ่อหรือคุณแม่จะเป็นเจ้าบ้านหรือไม่ เพราะถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นเจ้าบ้านก็สามารถดำเนินการไปแจ้งเกิดลูก เข้าทะเบียนบ้านได้เลย แต่ในกรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่ไม่ได้เป็นเจ้าบ้านทั้งคู่ ทะเบียนบ้านเป็นชื่อของคุณตาหรือคุณยายที่เป็นเจ้าบ้าน คุณพ่อคุณแม่จะต้องได้ใบมอบหมายสิทธิ์จากเจ้าบ้านเพื่อที่จะสามารถนำไปแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อแจ้งย้ายชื่อลูกเข้าทะเบียนบ้านได้ สรุปก็คือเจ้าบ้านจะมีสิทธิ์ในการแจ้งชื่อเข้าทะเบียนบ้าน

ใครเป็นผู้ไปแจ้งเกิด

หลังเด็กคลอด หากคุณพ่อคุณแม่ติดธุระไม่สามารถที่จะเดินทางไปแจ้งเกิดให้กับลูกได้ สามารถมอบอำนาจและ เอกสารแจ้งเกิด ให้กับบุคคลอื่นที่เป็นญาติ หรือเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ไปแจ้งเกิดแทนได้ โดยการแจ้งเกิดไม่จำเป็นจะต้องเป็น บิดา มารดา ของเด็กเท่านั้น แต่ให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่ บิดา มารดา ไปแจ้งเกิดได้ ซึ่งจะต้องมีใบมอบหมายสิทธิ์ตามกฎหมายด้วยถึงจะสามารถแจ้งเกิดได้

ต้อง แจ้งเกิดลูก ที่ไหน

แม้ว่าในปัจจุบันการแจ้งเกิดลูกนั้นสามารถดำเนินการแจ้งเกิดให้ลูกได้เลยในกรณีที่คลอดในโรงพยาบาลรัฐ สถานีอนามัย หรือสถานที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะสร้างความสะดวกสบายให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก แต่ในกรณีที่ลูกคลอดที่บ้าน หรือคลอดที่โรงพยาบาลและคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถดำเนินการแจ้งเกิดทันทีได้ จะต้องเดินทางไปแจ้งเกิดลูกภายหลัง ณ ท้องที่ที่เด็กเกิดอย่างเช่น

  • หากสถานที่ลูกเกิดตั้งอยู่ในเขตเทศบาล คุณพ่อคุณแม่สามารถแจ้งเกิดลูกที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ลูกเกิด
  • หากสถานที่ที่ลูกเกิดตั้งอยู่นอกเขต คุณพ่อคุณแม่สามารถแจ้งเกิดที่สำนักทะเบียนที่ว่าการอำเภอที่ตั้งในเขตท้องที่นั้นๆ

หลังคลอดสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องรีบดำเนินการนั่นก็คือการแจ้งเกิดลูก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการแจ้งเกิดนั้นทางโรงพยาบาลจะมีบริการแจ้งเกิดให้ก็ตาม เพื่อความสะดวกสบายในการแจ้งเกิดคุณพ่อคุณแม่ควรพกเอกสารสำคัญ อย่างเช่น ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนติดตัวไปด้วยระหว่างที่ไปทำคลอดที่โรงพยาบาล เพราะจะได้ดำเนินการแจ้งเกิดจากทางโรงพยาบาลได้เลยจะได้ไม่ยุ่งยากในการมาแจ้งเกิดทีหลังนั่นเอง

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular