คลอดธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะเลือก เนื่องจากว่าการคลอดโดยธรรมชาตินั้นจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และแผลหายเร็วกว่าการผ่าคลอด อย่างไรก็ตามการคลอดโดยวิธีธรรมชาติก็เสี่ยงที่แผลจะอักเสบติดเชื้อได้เช่นกันหากดูแลไม่ดี ซึ่งควรดูแล แผลคลอดธรรมชาติ อย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำ จะมีอะไรบ้างนั้นตามมาดูกันเลย
วิธีการดูแล แผลคลอดธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าคลอด หรือแผลที่คลอดโดยธรรมชาติก็เสี่ยงที่จะอักเสบติดเชื้อได้เช่นกัน หากดูแลแผลไม่ดี แผลฝีเย็บที่คลอดโดยธรรมชาตินั้นจะมีวิธีดูและรักษาง่ายกว่าแผลผ่าคลอดและหายเร็วกว่า จึงไม่แปลกใจที่คุณแม่ส่วนใหญ่เลือกวิธีคลอดโดยธรรมชาติ ซึ่งสามารถดูแลแผลคลอดธรรมชาติได้ด้วยวิธีดังนี้
1.ดูแลทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
การดูแลทำความสะอาดแผลฝีเย็บอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความเสี่ยง แผลฝีเย็บแยก ติดเชื้อได้ การทำความสะอาดแผลฝีเย็บที่ถูกวิธีนั้นควรใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเท่านั้น โดยควรซับแผลให้แห้งทุกครั้งหลังจากปัสสาวะหรืออุจจาระ ซึ่งในช่วงนี้ไม่ควรใช้สายฉีดก้นเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แผลฉีกขาดได้ ในส่วนของการอาบน้ำ คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ
2.หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ
การเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ จะช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้ดี เนื่องจากคุณแม่หลังคลอดจะยังมีเลือดและน้ำคาวปลาออกมาจำนวนมาก จำเป็นจะต้องใช้ผ้าอนามัยคอยช่วยซับ ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแผ่นเดิมเป็นเวลานานๆ เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเสี่ยงที่จะทำให้แผลคลอดธรรมชาติอักเสบและติดเชื้อได้
3.ประคบเย็นบรรเทาอาการปวดบวม
คุณแม่หลังคลอดหากมีอาการปวดบวมบริเวณแผลคลอดธรรมชาติ สามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยการนำถุงเย็นมาประคบเพื่อบรรเทาอาการ และหากปวดจนทนไม่ไหวสามารถปรึกษาหมอเพื่อขอยาแก้ปวดมารับประทานบรรเทาอาการปวดบวมที่ฝีเย็บได้
4.ใช้หมอนรองนั่ง
การนั่งบนพื้นแข็งๆ จะยิ่งทำให้เจ็บแผลมากขึ้น และเสี่ยงที่จะทำให้ แผลฝีเย็บแยก ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จะนั่งควรใช้หมอนรองนั่งและยิ่งเป็นหมอนที่เป็นรูปโดนัทที่มีรูตรงกลางจะดีมาก เพราะเหมาะสำหรับการรักษาแผลฝีเย็บได้ดี
5.นั่งหรือเดินด้วยท่าที่เหมาะสม
การนั่งและเดินในท่าที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการเจ็บแผลฝีเย็บได้ดี ช่วยให้ แผลคลอดธรรมชาติ หายเร็วมากขึ้น โดยการนั่งนั้นควรหลีกเลี่ยงท่านั่งขัดสมาธิ เนื่องจากเป็นท่านั่งที่เสี่ยงที่จะทำให้แผลแยก ควรนั่งในท่าพับเพียบมากกว่า ในส่วนของการเดินควรเดินแยกขาเล็กน้อยค่อยๆ เดินเพื่อป้องกันไม่ให้แผลฝีเย็บเกิดการเสียดสี การระวังทุกอิริยาบถไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน อย่างเหมาะสม จะช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้นนั่นเอง
6.มาตรวจตามแพทย์นัด หลังคลอด
หลังคลอด แพทย์จะนัดให้คุณแม่กลับมาตรวจอีกครั้งประมาณ 1 เดือนเพื่อทำการตรวจแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าคลอด ว่าแผลมีความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจสภาพร่างกายของคุณแม่ส่วนอื่นๆ ด้วย หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก่อนวันแพทย์นัดอย่างเช่น แผลแยก ปวดแผลมาก แผลบวมแดง น้ำคาวปลามีกลิ่นหรือออกมากผิดปกติ มีไข้ สามารถมาพบแพทย์ก่อนกำหนดนัดตรวจได้
แผลฝีเย็บจะหายภายในกี่วัน
โดยปกติแล้ว แผลคลอดธรรมชาติจะใช้เวลารักษาไม่นานแผลก็จะหาย หากดูแลอย่างถูกวิธีก็อยู่ที่ประมาณ 5 – 7 วันอาการเจ็บและบวมก็จะเริ่มบรรเทาลงแล้ว และใช้เวลาต่อจากนั้นประมาณ 21 วันแผลฝีเย็บก็จะหายสนิท แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของคุณแม่แต่ละท่านด้วย
อาการแบบไหน แสดงว่าแผลติดเชื้อ
หลังคลอดไม่ว่าจะเป็นคลอดโดยธรรมชาติ หรือผ่าคลอด คุณแม่ควรดูแลทำความสะอาดแผลให้ดี เพราะแผลเสี่ยงที่จะอักเสบติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเองให้ดี หากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นคือสัญญาณบ่งบอกว่าแผลกำลังอักเสบติดเชื้อนั่นเอง
- มีอาการเจ็บปวดตรงบริเวณแผลฝีเย็บเป็นอย่างมาก
- แผลฝีเย็บแยก ปริบวม แดง มีอาการคันตรงบริเวณแผลร่วมด้วย
- ตรงแผลมีเลือดออก น้ำเหลืองไหลซึมออกมาจากช่องคลอด รวมทั้งอาจมีหนองปนเลือดอยู่บริเวณปากช่องคลอด
- เวลาปัสสาวะจะมีอาการแสบขัด
- คุณแม่มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้สูงร่วมด้วย
และนี่คือเคล็ดลับดีๆ ดูแลแผลคลอดธรรมชาติ ที่เราได้นำมาฝากคุณแม่ในวันนี้ การดูแลรักษาความสะอาดอย่างดีจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้แผลอักเสบและติดเชื้อได้ และหากคุณแม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับแผล อย่างเช่น แผลบวม แดง มีน้ำเหลืองและมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์ด่วน เพราะนั่นคืออาการ แผลฝีเย็บอักเสบและติดเชื้อนั่นเอง
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- ผลสำรวจเผยมีเด็กครึ่งเดียวเท่านั้นที่พ่อแม่พาไปหาหมอฟัน
- เหลือเชื่อ!ทารกบางคนมีฟันขึ้นตั้งแต่ในท้องแม่
- ลูกชอบกัดฟัน มีผลเสียหรือไม่?