fbpx
Homeการเลี้ยงลูกเด็กขาดรัก กอดยังไงก็ไม่อุ่น แก้ไขได้

เด็กขาดรัก กอดยังไงก็ไม่อุ่น แก้ไขได้

เราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆถึงคำพูดที่ว่า เด็กขาดรัก ขาดความอบอุ่น แต่เราอาจไม่เข้าใจเลยว่าพ่อแม่ทุกคนก็รักลูกของตนเองแต่ทำไม อะไรทำให้ลูกถึงขาดความรักความอบอุ่น

 

ถ้าคุณลองทบทวนตัวเองก็จะพบว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก เราต้องการความรักความสนใจจากพ่อแม่เป็นอย่างมาก จนแม้กระทั่งเราโตเราก็รู้สึกว่าเราปรารถนาที่จะได้รับความรักจากพ่อแม่ เราพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเราดีพอที่พ่อแม่จะรักและภาคภูมิใจในตัวของเรา โดยเราเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมความรักของพ่อแม่จึงมีความสำคัญต่อเรา

 

ตามหลักทางจิตวิทยาอธิบายได้ว่า

เมื่อลูกๆเกิดมาคนแรกที่ลูกเจอก็คือพ่อแม่ คนที่คอยดูแล ช่วยเหลือ และปกป้องเราจากอันตรายรอบรอบตัว สัญชาตญาณบอกเราว่าคนสองคนนี้เป็นคนที่เราควรไว้วางใจมากที่สุด แม้ว่าเราจะไม่เคยมีประสบการณ์กับคนสองคนนี้เลยก็ตาม

โดยการพยายามดูแล ช่วยเหลือของพ่อแม่ทำให้ลูกๆจึงคิดว่าคนสองคนนี้สำคัญ

พวกเค้าจะอยู่รอดได้หรือไม่ จะปลอดภัยกินอิ่มนอนหลับ ก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่

 

ลูกๆจะคอยสังเกตว่าในบ้านหลังนี้ใครเป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุด ซึ่งก็อาจเป็นความเข้าใจไปเองแบบเด็กๆ เช่นเมื่อแม่เสียงดัง พ่อเงียบ เค้าก็จะคิดไปว่าบ้านนี้แม่ใหญ่สุด

เค้าจะพยายามเข้าหาคนที่มีอำนาจสูงสุด เพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากอันตราย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดของมนุษย์

 

พวกเค้าจะพยายามทำให้พ่อแม่พอใจแม้เค้ายังไม่สามารถสื่อสารได้ก็ตาม เช่น ส่งยิ้มหวานๆให้ พยายามหัวเราะ พยายามจดจำคนในบ้าน พยายามส่งเสียงอ้อแอ้ทักทาย จนในที่สุดพวกเค้าก็ทำสำเร็จ

ความรักของพ่อแม่จะค่อยๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นก็สิ่งที่ลูกต้องการ เพราะลูกรู้ว่า เมื่อพ่อแม่รัก พวกเขาอยู่รอดปลอดภัย

เพราะความรักของพ่อแม่ทำให้เค้ารู้สึกมั่นคงปลอดภัย รู้ว่ามีคนจะปกป้องเค้าจากอันตราย รู้ว่าเค้าจะรอดพ้นจากสิ่งที่คุกคาม ความรักของพ่อแม่จะช่วยให้เค้าเติบโตอย่างมีความสุข มีพลังในการเรียนรู้และก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆไปได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดีกว่าเด็กที่ขาดความรักความอบอุ่นอย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้นความรักของพ่อแม่จึงสำคัญ

ผลกระทบเมื่อลูกรู้สึกว่าตนเองขาดความรัก

  • มีผลกระทบต่อพัฒนาการทุกด้านและการเรียนรู้ เพราะเด็กไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ เด็กคิดว่าไม่ว่าจะพยายามเท่าไรเขาก็ไม่ถูกรัก ถูกกอดอยู่ดี
  • มีปัญหาทางด้านความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ตามมา โดยปกติเด็กแต่ละคนมีการรับรู้สิ่งต่างๆรอบๆตัวต่างกันแม้จะอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็ตาม เมื่อการรับรู้ต่างก็ส่งผลไปถึงกระบวนความคิดความเข้าใจด้วย นั่นทำให้เด็กมีความคิดเป็นแบบที่ตนเองรู้สึก นั่นแปลว่าเด็กอาจจะตีความว่าพ่อแม่ไม่รักจากความคิดของตนเองก็ไดั และเมื่อรู้สึกและคิดเช่นนั้นก็ส่งผลให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมเช่น แยกตัว งอนบ่อย น้อยใจง่าย ก้าวร้าว ขโมยของ โกหก กัดเล็บ ดึงผม และเกิดปัญหาทางอารมณ์ตามมาด้วย
  • เด็กจะเริ่มไปหาความรักความอบอุ่นจากสิ่งอื่นๆ เช่นตุ๊กตา ของเล่น เพื่อน เกมส์ เมื่อโตขึ้นมาก็มีความเสี่ยงที่จะยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้นเพื่อทำให้ตนเองรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เช่น ติดเพื่อน ติดแฟน ติดเกมส์ ติดยาเสพติด
  • low self esteem รักตัวเองไม่เป็น รักคนอื่นไม่เป็น รู้สึกว่าตนเองดีไม่พอ ทำทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นรอบๆตัวรักและสนใจ นำมาซึ่งการแคร์คนอื่นและการตอบสนองของคนอื่นอย่างมาก และสูญเสียตัวตนของตนเองในที่สุด
  • เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง คอยแต่จะหมุนวนรอบๆคนอื่น
  • ตามหาความรักที่ขาดหายไป บางคนรักคนยาก บางคนรักไม่เป็น บางคนต้องการความรักในปริมาณที่มาก เบื่อง่าย หน่ายเร็วเพราะอยากได้ความรักจากคนหลายๆคนเพื่อสร้างความรู้วึกว่าคนเองเป็นที่ต้องการ
  • ไม่มีความสุข โหยหาอะไรก็ไม่รู้ แต่หาความตอบไม่ได้ ทำให้ใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อย ขาดเป้าหมาย ขาดแรงบันดาลใจ ไม่มีความสุขกับชีวิต จนอาจป่วยทางจิตใจได้ เช่นซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว บุคลิกภาพแปรปรวน

ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ

  • การรู้สึกได้ว่าถูกรัก เพราะมันทำให้พวกเค้ารู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย และถูกเติมเต็ม มันไม่ใช่การบอกรักแบบแห้งๆตามหน้าที่ แต่ต้องทำให้ลูกรู้สึกและสัมผัสได้
  • ให้ความรัก ความสนใจที่พอดี ถูกที่ ถูกเวลา ถูกเทคนิค
  • ไม่เพิกเฉยต่อความรู้สึกของลูก พยายามทำความเข้าใจมุมมองของลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้บอกและระบายความรู้สึก และตอบสนองความรู้สึกของลูกอย่างถูกต้อง
  • ตำหนิ ติ เตือน ชื่นชม อย่างระมัดระวัง อย่าบั่นทอนจนขาดกำลังใจ อย่าชื่นชมจนล้มเหลวไม่ได้
  • สังเกตว่าลูกมีความสุขหรือไม่ เด็กค่อนข้างตรงไปตรงมา ถ้ามีความสุขพวกเขาจะแสดงออกอย่างชัดเจน คอยสังเกตความคิด พฤติกรรมและอารมณ์ของลูก เมื่อเกิดปัญหารีบหาทางช่วยเหลือทันที

 

พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกเติบโตด้วยความรัก ความอบอุ่น และมีความสุขได้ไม่ยาก หากมีความรู้ ความเข้าใจ เรามาสร้างความรักง่ายๆ กอดอุ่นๆ ให้ลูกที่เรารักรู้สึกมีความสุขไปด้วยกันนะคะ

พ่อแม่แบบไหน

อาจารย์อลิสา รัญเสวะ

นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลพระรามเก้า

*************************************

Inbox FB เพจ : จิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นโดยนักจิตวิทยา

YouTube channel : เลี้ยงลูกกับอ.เกลล์

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular