ของแสลงหลังคลอด การรับประทานอาหารสำหรับแม่หลังคลอดต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรรับประทานอะไรพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะของหมักดองต่าง ๆ ของสุกๆ ดิบๆ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะผ่านไปยังน้ำนมเข้าสู่ตัวลูกน้อยซึ่งไม่เป็นผลดีเลย อาหารที่ต้องระมัดระวังหรือที่เรียกกันว่า ของแสลงหลังคลอด
ของแสลงหลังคลอด หมายถึง อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้ว เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวคุณแม่เองหรือว่าส่งผลไปถึงลูกน้อยผ่านทางนมแม่ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ยาหลายชนิดอาจนับว่าเป็นของแสลงสำหรับแม่ที่ให้นมลูก เพราะสารเหล่านี้จะผ่านจากเลือดแม่ เข้าไปในน้ำนมเมื่อทารกรับประทาน เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ เช่น ยาถ่าย อาจทำให้ทารกถ่ายท้องไปด้วย ยาสตรี ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ก็ส่งผลไปถึงลูกเช่นกัน ยาทุกชนิดจะปนไปในน้ำนมแม่ มากน้อยต่างกันไป
แม่หลังคลอดบางคนมีความเชื่อว่า เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เป็นของแสลง จึงงดรับประทาน หันมารับประทานข้าวกับปลาแห้งหรือเกลือ จนเกิดโรคขาดสารอาหารขึ้น บวม และเป็นโรคเหน็บชา เพราะขาดวิตามินบี1 แม่ก็จะมีน้ำนมที่ขาดวิตามินบี1 ให้กับลูกด้วย สำหรับทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาที่ทานอาหารไม่เพียงพอจนเป็นโรคขาดสารอาหาร เมื่ออายุได้ 4-5 เดือน ก็จะเกิดอาการของโรคเหน็บชา ร้องเสียงแหบ ผอม และเกิดอาการหัวใจล้มเหลวได้
อย่างไรเสียการรับประทานสิ่งใดขอให้คำนึงถึงทารกไว้ก่อน เพราะสารอาหารที่ได้รับนั้นจะไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตแต่ถ้าได้รับสารที่มีพิษหรือไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายย่อมส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตในระยะยาวได้
และเมื่อคุณแม่หลังคลอดได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ของแสลงหลังคลอด กันไปแล้ว ตอนนี้เรามาดูเมนูอาหารที่เราแนะนำให้คุณแม่หลังคลอดได้ทานเพื่อสุขภาพกันเลยค่ะ
เมนูอาหารหลัก สำหรับคุณแม่หลังคลอด
ซุปผัก ซุปซี่โครงหมูอ่อน ซุปเนื้อปลา หมูผัดขิง ไก่ผัดขิง แกงเลียงหัวปลี กระเพาะหมูต้ม ไก่ดำตุ๋นยาจีน และนมสด น้ำเต้าหู้
ผลไม้ต่างๆ เช่นกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า เงาะ สับประรด มะละกอ
ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับคุณแม่ในระยะให้นม
เมนู แกงจืดมะระสอดไส้
เครื่องปรุง
มะระลูกยาว |
2 ลูก |
เนื้อหมูสับ |
1 ถ้วย |
รากผักชีโขลกละเอียด |
1 ต้น |
กระเทียมโขลกละเอียด |
5 กลีบ |
ซีอิ๊วขาว |
3 ช้อนโต๊ะ |
พริกไทยป่น |
1/4 ช้อนชา |
น้ำซุป |
6 ถ้วย |
วิธีทำ
- ล้างมะระ หั่นเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว ขูดเมล็ดและไส้ออก
- ผสมหมูกับเครื่องที่โขลกเข้าด้วยกัน ใส่ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ ตักใส่ลงในมะระ เรียงลงจานนึ่งให้หมูสุก
- ใส่น้ำซุปลงในหม้อตั้งไฟพอเดือด ใส่ซีอิ้วขาว 2 ช้อนโต๊ะ ใส่มะระสอดไส้ที่นึ่งสุก ตักใส่ถ้วยเท่าๆ กัน โรยด้วยกระเทียมเจียว พริกไทยป่น
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 คน
พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
โปรตีน 7 กรัม
ไขมัน 3 กรัม
ประโยชน์ทางอาหาร
- มะระ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- รากผักชี ขับเหงื่อ ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- กระเทียม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ขับลม ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด
- พริกไทย แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง
เมนู ยำถั่วพู
เครื่องปรุง
ถั่วพู |
2 ถ้วย |
เนื้อหมูนึ่งแล้วหั่นเล็กๆ |
1/4 ถ้วย |
มะพร้าวคั่ว |
1/2 ถ้วย |
หอมแดงเจียว |
2 ช้อนโต๊ะ |
ถั่วลิสงคั่ว โขลกหยาบๆ |
2 ช้อนโต๊ะ |
น้ำปลา |
2 ช้อนโต๊ะ |
น้ำตาล |
1 1/4 ช้อนโต๊ะ |
น้ำมะนาว |
2 ช้อนโต๊ะ |
เครื่องปรุงน้ำพริกเผา |
|
พริกแห้งคั่ว โขลกละเอียด |
1 เม็ดเล็ก |
หอมแดงเผา โขลกละเอียด |
1 หัวเล็ก |
กระเทียมเผา โขลกละเอียด |
1 หัวเล็ก |
วิธีทำ
- ผสมน้ำปลา น้ำตาล พริกแห้งคั่ว หอมแดงเผา กระเทียมเข้าด้วยกันเป็นน้ำยำ ตั้งไฟพอข้น ใส่น้ำมะนาวคนพอเหนียว
- ลวกถั่วพูในน้ำเดือดพอสุก ตักขึ้นใส่ในน้ำเย็น ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำหั่นบางๆ
- ผสมถั่วพู หมู กับน้ำยำเคล้าเบาๆ ใส่มะพร้าวคั่วคนพอทั่ว
- ตักแบ่งใส่จาน 4 จาน โรยด้วยหอมเจียว ถั่วลิสงคั่วโขลก
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 คน
พลังงาน 180 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 17 กรัม
โปรตีน 9 กรัม
ไขมัน 9 กรัม
ประโยชน์ทางอาหาร
- ถั่วพู มีใยอาหารช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ช่วยย่อยอาหารป้องกันอุจจาระแข็ง
- หอมแดง มีน้ำมันหอมระเหย ช่วยขับลม
- ถั่วลิสง ลดความดันโลหิต ลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด
- น้ำมะนาว มีกรดซิตริกและวิตามิน ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยย่อย
- กระเทียม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ ขับเสมหะ
- พริกแห้ง ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ปวดท้อง ลดไขมันและน้ำตาล
ได้สูตรอาหารที่น่ารับประทานและทำได้ไม่ยาก คุณแม่ลองนำไปทำดูนะคะ อาหารมีรสชาติเผ็ดนิดๆ ช่วยเจริญอาหารดีค่ะ เพราะในช่วงที่ให้นมลูกอยู่นั้นจะมีความรู้สึกอยากรับประทานอะไรที่มีรสชาติเพราะรู้สึกปากแห้งๆ รับรองว่าสูตรเด็ดที่ให้ไปนี้บำรุงทั้งคุณแม่และคุณลูกได้ดีทีเดียวค่ะ
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- สุดทรมาน!! อาการ ท้องผูกหลังคลอด สาเหตุคืออะไร แก้ปัญหาแบบไหนดี?
- การทานอาหารสำหรับแม่หลังคลอดที่ต้องให้นมลูก
- แม่หลังคลอดควรรู้! ทำอย่างไรเมื่อ ปวดมดลูกหลังคลอด