อาการเจ็บปวดฝีเย็บ ถือว่าเจ็บปวดเอาการอยู่เหมือนกันสำหรับคุณแม่หลังคลอด มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผลฝีเย็บกันก่อนนะคะ สาเหตุที่คุณหมอต้องกรีดฝีเย็บก็เพื่อให้ทารกน้อยคลอดออกมาโดยไม่มีแรงต้านจากเนื้อเยื่อของฝีเย็บที่ปากช่องคอลดมากนัก ทำให้การคอลดง่ายและสะดวกขึ้น และยังช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับลูกน้อย เช่น การขาดออกซิเจน หรืออันตรายต่อศีรษะของลูก การตัดฝีเย็บมีข้อดีตรงที่ช่วยป้องกันอาการหย่อนยานของผนังช่องคลอด อาการไอจามปัสสาวะเล็ดได้ในอนาคต
แนวการตัดแผลฝีเย็บ มี 2 แบบ
1.การตัดแผลฝีเย็บแนวตรงกับรอยฝีเย็บหรือแนวกลาง
- แผลฝีเย็บในลักษณะนี้จะทำให้เย็บซ่อมแซมกลับคืนรูปได้ดีกว่า และแผลจะหายเร็วขึ้น สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติดังเดิม
- ข้อเสีย ของแผลฝีเย็บแนวตรง คือ อาจมีการฉีดขาดของแผลเพิ่มเติมต่อเนื่องไปจนถึงหูรูดทวารหนัก จะพบได้ในกรณีที่แม่เบ่งคลอดรุนแรง รวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ หรือทารกตัวใหญ่มาก
- ถ้าแผลฝีเย็บฉีกขาดมีมากเกินไปและเย็บซ่อมแซมแผลไม่ดีอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลัง เช่น เกิดรูรั่วระหว่างช่องคลอดและทวารหนักทำให้มีอุจจาระไหลออกมาทางช่องคลอดได้ ทำให้ช่องคลอดมีกลิ่นและ อาจติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้
2.การตัดฝีเย็บในแนวเฉียง
- การตัดฝีเย็บในแนวเฉียงมีผลดีคือ ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทวารหนัก แต่อาจจะทำให้แผลที่หายแล้วดูไม่สวยเป็นแผลเป็นได้ง่าย
- มีอาการเจ็บที่แผลในช่วงหลังผ่าตัดได้มากกว่า ยิ่งถ้าแผลมีการฉีกขาดมาก แผลลึก ก็อาจทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ และหลังคลอดจะมีอาการเจ็บตึงที่แผลได้มากกว่าปกติ
- ถ้าใช้ไหมที่ละลายตัวช้าในการเย็บซ่อมแซมฝีเย็บอาจจะทำให้มีความรู้สึกตึงที่แผลมากกว่าปกติเนื่องจากการค้างของไหมที่แผลด้วย
- การตัดฝีเย็บในแนวเฉียงซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการปวดตึงที่แผลในช่วงหลังคลอดได้นานกว่า นอกจากนี้ถ้าคุณหมอทำรีแพร์หรือมีการเย็บซ่อมแซมบริเวณฝีเย็บและอุ้มเชิงกราน โดยดึงกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักให้มีความแข็งแรงมากขึ้นก็จะ ทำให้เกิดอาการเจ็บตึงแผลที่ฝีเย็บมากและนานกว่าปกติด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แผลฝีเย็บ ไม่ว่าจะเป็นแนวตรงหรือแนวเฉียงไม่มีอันตรายแต่อย่างใดและจะหายได้เองในช่วงเวลาไม่นาน แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักนิดขอให้คุณแม่ทำใจให้สบายดูแลตนเองตามปกติสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ และไปตรวจภายในตามที่คุณหมอนัดนะคะ
การดูแลแผลฝีเย็บที่ถูกต้อง
1.วิธีทำความสะอาดแผลฝีเย็บที่ดีและรวดเร็วที่สุด คือ ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาด หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่คุณหมอสั่ง ทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง
2.เพื่อป้องกันไม่ให้แผลฝีเย็บถูกกดทับ ควรหาเบาะรองนั่งเว้นตรงกลาง หรือหมอนโดนัทอันใหญ่ หรือห่วงยางเล่นน้ำของเด็ก มารองนั่งทุกครั้ง ต้องพยายามหนีบขาให้ชิดกันไว้ให้มากที่สุด ส่วนการเดินคุณแม่อาจต้องเดินขาถ่างสักเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อสะโพกไปเบียดโดนแผลฝีเย็บ
3.ต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ ลุกเดิน ลุกนั่ง ลงนอน ให้ช้าและระวังที่สุด ต้องพยายามหนีบขาให้ชิดกันเสมอ
4.ดูแลทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นและรักษาความสะอาดของแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดให้สะอาดดีตลอดวัน โดยเฉพาะหลังขับถ่าย ควรทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ล้างแผลย้อนไปมา เพราเชื้อโรคจากทวารหนักสามารถเข้าสู่แผลทำให้แผลอักเสบได้
5.แนะนำให้ใส่ผ้าอนามัยตลอดเวลาและเปลี่ยนให้บ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง จนกว่าแผลจะหายสนิท
6.เมื่อแผลทำคลอดเจ็บน้อยลง ควรออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ โดยการขมิบช่องคลอดและหูรูดบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น ช่วยสมานแผลให้แนบกันเร็วขึ้น
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- อุ้งเชิงกรานแคบ ต้องผ่าคลอดเท่านั้นจริงหรือ?
- ไขข้อข้องใจทำไมมดลูกแตก ไม่อยากเสี่ยงต้องดูแลตัวเองแบบนี้!
- หลังคลอดมีน้ำนมให้ลูกทันใจ นมคัดตั้งแต่ยังไม่คลอด เพราะน้ำอินทผลัมผสมน้ำหัวปลี