fbpx
Homeการตั้งครรภ์เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน อันตรายอย่างไร? ส่งผลให้ทารกตัวเหลืองจริงหรือ?

เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน อันตรายอย่างไร? ส่งผลให้ทารกตัวเหลืองจริงหรือ?

ภาวะ เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน สามารถพบได้มากสูงถึง 50% ของทารกแรกเกิด เนื่องจากหมู่เลือดของลูกนั้น จะขึ้นอยู่กับหมู่เลือดของคุณพ่อและคุณแม่เป็นส่วนสำคัญ  ดังนั้น อาการตัวเหลืองของทารกหลังคลอดจึงเป็นหนึ่งในการเกิดภาวะเลือดของแม่กับลูกที่ไม่สัมพันธ์กัน

ประเภทของหมู่เลือด แบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.หมู่เลือดหลักคือ  A, B และ O

หมู่เลือดระบบนี้แบ่งออกเป็น 4 หมู่ คือ A, B, AB และ O ซึ่งจะถูกกำหนดโดยโปรตีนที่เกาะบนผิวของเม็ดเลือดแดง โดยสารโปรตีนนี้คือ แอนติเจน (Antigen) เป็นตัวจำแนกหมู่เลือด ในระบบ ABO มีอยู่ 2 ชนิด คือ สารโปรตีน A (Antigen-A) และสารโปรตีน B (Antigen-B)

2.หมู่เลือด Rh โดยแบ่งได้อีก 2 ประเภท คือ Rh+ และ Rh-   

2.1 หมู่เลือด Rh+ (Rh positive) ได้แก่ A+, B+, AB+ และ O+ พวกนี้จะมีแอนติเจนอยู่ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งถือเป็นหมู่โลหิตธรรมดา ในคนไทยส่วนใหญ่ พบว่ามีหมู่เลือด Rh+ เป็นส่วนมากประมาณ 99.7 %

2.2 หมู่เลือด Rh- (Rh negative) ได้แก่ A-, B-, AB- และ O- พวกนี้จะไม่มีแอนติเจนอยู่ในเม็ดเลือดแดง ซึ่งถือเป็นหมู่โลหิตหายาก หรือหมู่โลหิตพิเศษ ในคนไทยพบได้น้อยมาก ประมาณ 0.3 % แต่ในชาวยุโรปผิวขาวจะพบ Rh negative ถึง 15%

การไม่เข้ากันของหมู่เลือด ABO

ความไม่เข้ากันของหมู่เลือด ที่พบบ่อยและเป็นอันตราย เช่น แม่เลือดกรุ๊ป O แต่ลูเลือดกกรุ๊ป A หรือ B เนื่องจากเม็ดเลือดแดงของลูกจะมีแอนติเจน A หรือ B ซึ่งแม่ไม่มี แอนติเจนที่ลูกมีอาจเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายแม่ และกระตุ้นให้แม่สร้างแอนติบอดี้ต่อเม็ดเลือดแดงของลูก โดยแอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นจะผ่านรกไปยังตัวลูกและไปจับกับเม็ดเลือดแดงของลูก และทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถ้าปฏิกิริยารุนแรงมาก ทารกอาจบวม หัวใจวาย และถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์

ส่วนในกรณีที่คลอดออกมามีชีวิต ลูกจะมีอาการตัวเหลือง ซึ่งถ้าไม่มากจะดีขึ้นและหายได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก สารบิลิรูบินที่ทำให้ตัวเหลืองอาจไปจับที่สมอง จำเป็นต้องรักษาด้วยการถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารบิลิรูบิน ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเกิดความพิการทางสมองได้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทารกก็จะสามารถหายเป็นปกติได้

การไม่เข้ากันของหมู่เลือด Rh

ในกรณีที่แม่มีกลุ่มเลือด RH Negative แต่พ่อมีกลุ่มเลือด RH Positive ทำให้ลูกมีโอกาสมีกลุ่มเลือด RH Positive เหมือนพ่อ อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน โดยที่ลูกจะมีแอนติเจน-ดี (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเม็ดเลือดแดง ในขณะที่แม่ไม่มี ดังนั้นร่างกายของแม่ก็จะตรวจจับ แอนติเจน-ดี (Antigen-D) ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และสร้างภูมิต้านทานต่อเม็ดเลือดแดงของลูกขึ้นมา เนื่องจากกลุ่มเลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน ร่างกายของแม่จะค่อย ๆ ใช้เวลาในการสร้างภูมิต้านทานเพื่อทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก เพราะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม หากเป็นการตั้งครรภ์ลูกคนแรก อาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับลูก หรืออาจมีภาวะตัวเหลืองเพียงเล็กน้อย

แต่หากคุณแม่มีลูกคนที่สองเป็น Rh positive อีก เลือดของแม่ก็จะสร้างภูมิต้านทานต่อเม็ดเลือดแดงของลูกซึ่งมีแอนติเจนขึ้นมาอีก ซึ่งครั้งนี้จะมากพอที่จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดงภายในร่างกายของลูกให้แตกตัวได้ โดยภูมิต้านทานนี้จะเข้าไปยังกระแสเลือดของลูกผ่านรก ทำให้เม็ดเลือดแดงของทารกตกตะกอน อาจส่งผลให้เป็นโรค Erythroblastosis Fetalis ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางรุนแรง บางรายเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายแล้วแท้ง บางรายเกิดสภาวะหัวใจทำงานหนัก เพราะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจทำให้ลูกเกิดภาวะบวมน้ำ ตับ-ม้ามโต หัวใจวาย บางรายที่คลอดออกมาได้ก็จะเป็นโรคโลหิตจางและดีซ่านแล้วเสียชีวิตในภายหลัง ภาวะนี้เรียกว่าการไม่เข้ากันของกรุ๊ปเลือด Rh  (Rh incompatibility)

วิธีการป้องกันภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกที่ไม่เข้ากัน

การป้องกันที่ดีที่สุดในกรณีหมู่เลือด Rh ของแม่และลูกไม่ตรงกัน คือการไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากตรวจพบว่า เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน ในการตั้งครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะฉีดยาลดการสร้างภูมิต้านทานต่อเลือดของลูกให้เมื่อตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือ หลังคลอดภายใน 72 ชั่วโมง ยานี้มีชื่อว่า Rh immunoglobulin (Rhig) จะทำหน้าที่จับกับแอนติเจน-ดี บนเม็ดเลือดแดงลูก ทำให้ร่างกายแม่ไม่สามารถตรวจจับแอนติเจน-ดี ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมได้ ร่างกายของแม่จึงไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานและไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกได้

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular