fbpx
Homeการตั้งครรภ์เสี่ยงอะไรบ้าง? หากตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปี

เสี่ยงอะไรบ้าง? หากตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปี

ในปัจจุบันสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงมีบทบาทในการดูแลครอบครัวมากขึ้น ไม่ใช่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเช่นในอดีต  ผู้หญิงสมัยนี้มีการศึกษาสูงขึ้น ส่งผลให้การแต่งงานเนิ่นนานออกไป บางคนแต่งงานเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป  ส่งผลให้เมื่อมีลูกอายุก็มากขึ้นตามไปด้วย  มาดูกันค่ะว่า  คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปตั้งครรภ์นั้น มีโอกาสเสี่ยงอะไรบ้าง  ติดตามอ่านกันเลยค่ะ

เสี่ยงอะไรบ้าง? หากตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปี

1.ทารกเสี่ยงพิการ

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ทารกน้อยในครรภ์มีโอกาสเสี่ยงพิการแต่กำเนิดมากกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า  เนื่องจาก ความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือโครโมโซม  ที่พบมากคือ กลุ่มเด็กดาวน์ หรือเกิดความผิดปกติของร่างกาย เช่น  ไม่มีนิ้วมือ นิ้วเท้า

หรือกลุ่มเด็กหัวบาตร หมายถึง เด็ก ที่มีศีรษะใหญ่ที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน รวมไปถึงมีความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น หัวใจรั่ว ลำไส้อุดตัน เป็นต้น

และยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด คลอดยาก ไหล่ติดขณะคลอด ทารกขาดออกซิเจนขณะคลอด น้ำหนักตัวน้อย อีกด้วย

ข้อมูลความเสี่ยงภาวะเด็กดาวน์ / อายุแม่ท้อง

แม่ท้องที่มีอายุ 25 ปี  มีโอกาสเกิดเด็กดาวน์  1 ใน 1,300 คน

แม่ท้องที่มีอายุ 30 ปี  มีโอกาสเกิดเด็กดาวน์  1 ใน 700 คน

แม่ท้องที่มีอายุ 35 ปี  มีโอกาสเกิดเด็กดาวน์  1 ใน 350 คน

แม่ท้องที่มีอายุ 39 ปี  มีโอกาสเกิดเด็กดาวน์  1 ใน 100 คน

แม่ท้องที่มีอายุ 42 ปี  มีโอกาสเกิดเด็กดาวน์  1 ใน 40 คน

แม่ท้องที่มีอายุ 45 ปี  มีโอกาสเกิดเด็กดาวน์  1 ใน 19 คน

 

2.แท้งบุตร 

สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี มีโอกาสแท้งเองตามธรรมชาติ ร้อยละ 10 หญิงตั้งครรภ์อายุ 35  ขึ้นไป มีโอกาสแท้งตามธรรมชาติ มากถึงร้อยละ 15 – 20 เลยทีเดียวค่ะ

 

3.เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์

  • ครรภ์เป็นพิษ  แม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษได้มากกว่า แม่ท้องที่มีอายุน้อยกว่า 2 – 3 เท่า
  • โรคเบาหวาน  แม่ท้องที่มีอายุมากกว่า  35 ปี  มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากกว่า แม่ท้องที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มากถึง 4 – 10 เท่า

นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะต่ำ ตกเลือดหลังคลอด  น้ำคร่ำแตกก่อนครบกำหนดคลอด เป็นต้น

4.ปัญหาในการคลอด

คลอดยาก มีโอกาสที่จะผ่าตัดคลอดสูง โดยเฉพาะแม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีโอกาสผ่าตัดคลอดสูงถึงร้อยละ 50  หรืออาจต้องใช้เครื่องมือในการช่วยคลอด เช่น เครื่องดูดสุญญากาศ  หรือคีมช่วยคลอด  เป็นต้น

 

5.ทารกเสียชีวิตในครรภ์

โดยเฉพาะแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ  จากข้อมูลของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า  แม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ทารกมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์ได้มากกกว่าแม่ท้องที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี  2 – 3 เท่า

 

อย่างไรก็ตาม  หากคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป  และมีประวัติการเจ็บป่วยใด ๆ ต้องแจ้งแก่คุณหมอเวลาที่ไปฝากครรภ์ครั้งแรก  เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดอีกครั้ง  รวมถึงการวางแผนในการดูแลให้ปลอดภัยทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ตลอดทั้ง 9 เดือนจนคลอดค่ะ

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular