fbpx
Homeเรื่องน่ารู้โรคที่พบในวัยเด็กมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร มีสาเหตุและอาการอย่างไร?

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร มีสาเหตุและอาการอย่างไร?

ในช่วงนี้ข่าวการป่วยด้วยโรคมะเร็งของนักแสดงเด็ก น้องสกาย  ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากข่าวที่กำลังโด่งดังในตอนนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกยังอยู่ในวัยเด็ก เกิดคำถามในใจขึ้นแล้วว่า ทำไมเด็กตัวเล็กเพียงแค่นี้ถึงเป็นมะเร็งได้นะ???  เพื่อเป็นการคลายความสงสัยของคุณพ่อคุณแม่  ทีมงานแม่รักลูกไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ  ติดตามอ่านกันได้เลย

ต่อมน้ำเหลือง คืออะไร

ต่อมน้ำเหลือง มีความสำคัญ คือ เป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ต่อมน้ำเหลืองเปรียบเสมือนท่อที่เชื่อมระบบน้ำเหลืองทั่วร่างกายเอาไว้ด้วยกันมีหน้าที่สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คืออะไร

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง(Lymphoma) เป็นเนื้องอกร้ายที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง ที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย  เช่น ที่บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง  และเซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังกระจายอยู่ในเยื่อบุอวัยวะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสมอง โพรงจมูก  ไซนัส  กระเพาะอาหาร  ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง กระดูก  แต่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease – HD) จะพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุ 15 -34 ปีและ 60 ปีขึ้นไป แต่จะพบได้น้อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้มากถึงปีละประมาณ 25,000 คน

2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (non-Hodgkin’s lymphoma – HHL) พบผู้ป่วยด้วยมะเร็งกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มแรก ประมาณ 8 เท่า และมีความรุนแรงของโรคสูงกว่ากลุ่มแรก มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ

สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ

  • ชนิดลุกลามช้า(Indolent) จะมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ผู้ป่วยจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการในปัจจุบัน
  • ชนิดรุนแรง(Aggressive) มีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน – 12 ปี แต่มีข้อดี คือ ถ้าหากรักษาได้อย่างทันท่วงทีโอกาสที่จะหายขาดก็มีมาก

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

1.ความผิดปกติของพันธุกรรม โดยมีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

2.เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองบางชนิด เช่น โรคต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ

3.การสัมผัสวัตถุทางเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น การสัมผัสยาฆ่าแมลง น้ำยาย้อมผม เป็นต้น

4.การมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์, โรคไขข้ออักเสบ, การกินยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ (เช่น ปลูกถ่ายไต) เป็นต้น

5.การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลไร(Helicobacter pylori หรือย่อว่า H.pylori) ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

1.พบก้อนบวมแข็งของต่อมน้ำเหลือง คลำได้  ไม่รู้สึกเจ็บ และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เซนติเมตร  ก้อนแข็งนี้มักจะเกิดที่ลำคอนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน บางคนอาจจะพบก้อนแข็งได้ที่รักแร้หรือขาหนีบ หรือพบพร้อมกันหลาย ๆ ตำแหน่งในร่างกาย

2.หากก้อนมะเร็งอยู่บริเวณลำคอ  มักจะมีอาการไอ  เจ็บหน้าอก  หายใจลำบาก  หน้าบวม  คอบวม  แขนบวม

3.หากเกิดบริเวณหน้าอก  จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด  ท้องผูก  เบื่ออาหาร บางคนมีลักษณะตัวเหลืองเหมือนเป็นดีซ่าน

4.หากเกิดบริเวณช่องท้อง  จะเกิดอาการท้องเสียบ่อย ๆ ลำไส้ไม่ดูดซึมอาหาร  น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

5.หากเกิดในสมอง ไขสันหลังหรือระบบประสาท  จะมีอาการปวดศีรษะอย่างแรง  แขนขาชา อ่อนแรง

6.หากมะเร็งลุกลามเข้าไขกระดูกแล้ว จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการซีด มีเลือดออกง่าย  และติดชื้อได้ง่าย

ระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว เช่น บริเวณลำคอ หรือบริเวณรักแร้ เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 บริเวณขึ้นไป เช่น บริเวณลำคอด้านขวาและซ้าย บริเวณลำคอด้านขวากับรักแร้ด้านขวา แต่ทั้งสองบริเวณจะต้องอยู่ด้านเดียวกันของกระบังลม เช่น อยู่เหนือกระบังลมทั้งหมด หรืออยู่ใต้กระบังลมทั้งหมด

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่โรคมะเร็งเกิดกับต่อมน้ำเหลืองทั้งในส่วนเหนือกระบังลมและส่วนใต้กระบังลม เช่น เกิดที่ลำคอร่วมกับขาหนีบ

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ไขกระดูก หรือเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ และสมอง ในระยะที่ 4 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะแร่กระจายเข้าสู่สมอง

การรักษา

  1. รักษาด้วยรังสีรักษา ด้วยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง มักจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยยาเคมีบำบัด

2.การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นวิธีหลักในการรักษา โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยาที่ให้จะไปออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง

3.การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็ง

4.การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ใช้ได้ผลดีเฉพาะกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด และยายังมีราคาแพงมาก ส่วนใหญ่จะใช้กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดื้อยาเคมีบำบัด

5.การผ่าตัด ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักไม่มีการผ่าตัด จะมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องผ่าตัด  เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีด้วยยาเคมีบำบัด จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular