fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เรื่องจริง หรือคิดไปเอง “นมแม่ไม่พอ” สำหรับทารก

เรื่องจริง หรือคิดไปเอง “นมแม่ไม่พอ” สำหรับทารก

หลังจากคลอดแล้วประมาณ 2 – 3 วัน คุณแม่จะเริ่มมีน้ำนมออกมาให้ลูกได้กิน  แต่ในช่วงแรกจะเป็นน้ำนมเหลืองที่มีคุณค่าทางสารอาหารแก่ทารกมากมายและยังมีภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย  ดังนั้น  ความกังวลของแม่หลังคลอดคือ  น้ำนมเมื่อไหร่จะมา  พอน้ำนมเริ่มมา ความกังวลต่อมาอีกก็คือ กลัวน้ำนมไม่พอ  และดูจะเป็นความกังวลที่ไม่ยอมจบลงง่าย ๆ เสียด้วย เพราะลูกน้อยโตขึ้นทุกวัน  ต้องกินมากขึ้น  มาไขข้อข้องใจกันดีกว่าค่ะ ว่าเรื่องจริง หรือคิดไปเอง “นมแม่ไม่พอ” สำหรับทารก

ทำความเข้าใจ : ขนาดกระเพาะของทารก

ทารกน้อยตัวเล็กกระจิริดของคุณพ่อคุณแม่นั้น ไม่ได้มีขนาดของกระเพาะอาหารที่ใหญ่โตมโหฬารอะไรเลย  กระเพาะอาหารของทารกมีขนาดเท่ากำปั้นของตัวลูกเท่านั้นเองค่ะ ความจุเต็มที่ ประมาณ 30 – 40 cc.

คุณแม่ไม่ต้องให้ลูกกินนมจนเต็มกระเพาะอาหารด้วยความกลัวว่าลูกจะไม่อิ่มนะคะ แบบนี้ไม่ถูกต้องแน่ ๆ   ที่สำคัญลูกจะกินนมได้เต็มที่ประมาณ 2 ใน 3 ของกระเพราะหรือประมาณ 20 cc. เท่านั้นค่ะ

เรื่องจริง หรือคิดไปเอง “นมแม่ไม่พอ” สำหรับทารก

หลังจากคลอดแล้วประมาณ 2 – 3 วัน คุณแม่จะเริ่มมีน้ำนมออกมาให้ลูกได้กิน  แต่ในช่วงแรกน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด ร่างกายจะสร้างรอไว้ประมาณ 25 – 75 cc. / วัน

และจะถูกสร้างมากขึ้นหากได้รับการดูดกระตุ้นจากลูกน้อย  ภายหลังคลอดในหนึ่งสัปดาห์น้ำนมของคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 125 ,250 และ 850 cc. / วัน ตามลำดับ   มาถึงตอนสำคัญกันว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำนมแม่เพียงพอสำหรับทารกหรือไม่  อ่านต่อเลยค่ะ

รู้ได้อย่างไรน้ำนม “พอ” หรือ “ไม่พอ” สำหรับทารก

คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่มหรือไม่อิ่ม  ต้องดูที่ลูกนะคะ  ไม่ใช่ที่ความรู้สึกของแม่ วิธีการสังเกต มีดังนี้

1.ลูกกินนมแล้วนอนหลับไม่ร้องโยเย หรืองอแงเพราะไม่อิ่มนม

2.ในช่วง 2 – 3 เดือนแรก ลูกมักจะกินนมไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ครั้ง

3.ลูกจะถ่ายปัสสาวะมากกว่า 6 – 8 ครั้ง / วัน

4.ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ลูกมักจะถ่ายอุจจาระมากกว่า 1 ครั้ง / วัน

5.คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าเต้านมของคุณแม่แฟบลงกว่าตอนที่ให้ลูกกินนม

6.ดูที่น้ำหนักตัวของลูกจะเพิ่มขึ้นนับจาก 3 – 4 วันหลังคลอด

7.สำหรับการร้องไห้หลังกินนมไม่ได้แปลว่า ลูกไม่อิ่ม เพียงอย่างเดียวนะคะ ส่วนหนึ่งอาจมีปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น  ลูกรู้สึกไม่สบายตัว เพราะบางทีเกิดถ่ายอุจจาระขณะกินนมทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเลยร้องโยเยก็มีค่ะ  หรืออิ่มแล้วแต่อยากให้อุ้มต่อ อยากให้พาเดิน หรือลูกตกใจอะไรสักอย่าง เป็นต้น อย่างน้อยให้เค้ากินนมเสร็จแล้วอุ้มไว้ในอ้อมกอดให้ลูกสบายตัวสบายใจก่อนนะคะ ถึงค่อยวางลงบนเตียง

 “นมแม่น้อย”  เพราะอะไร ???

สาเหตุหลัก ๆ ที่นมแม่น้อย เกิดจาก ไม่ได้รับการดูดกระตุ้นมากเท่าที่ควร หรือดูดกระตุ้นไม่เพียงพอ  สิ่งสำคัญคือ ดูดมาก ดูดบ่อย น้ำนมจะมาก นอกจากนี้การดูดที่ “ไม่ถูกต้อง”  เช่น  ลูกดูดนมแม่เพียงแค่หัวนม  หรืออมหัวนมไว้เฉย ๆ หรือปัญหาเกิดจากความวิตกกังวลของคุณแม่นั่นเอง  ความกังวลส่งผลให้กลไกการผลิตน้ำนมลดน้อยถอยลงนะคะ  วิธีแก้ไขหากน้ำนมแม่มาน้อยให้ลูกดูดบ่อย ๆ และดูดให้นานขึ้น สำหรับคุณแม่เองการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลูกหลับ ก็มางีบหลับตาม จิบน้ำอุ่นตลอดวัน  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์  รวมไปถึงทานอาหารที่ช่วยบำรุงน้ำนมเช่น น้ำอินทผลัมผสมน้ำหัวปลีเป็นต้น

อุ้มลูกกินนมให้ถูกท่า น้ำนมแม่ ไหลมาเทมาแน่นอน

การอุ้มลูกกินนมให้ถูกท่า  มีผลต่อการให้นมแม่  จริงแท้แน่นอนค่ะ  เพราะท่าอุ้มให้นมที่ถูกต้อง คือ ปากต้องอมถึงลานนม  สังเกตริมฝีปากลูกบานถึงลานนม  แก้มจะป่อง และคางชิดเต้านมของคุณแม่ ท้องแนบท้อง ท้องลูกกับท้องแม่หันเข้าหากัน   เรียกว่าท่านี้สบายทั้งแม่และลูก และยังช่วยป้องกันหัวนมแตกได้อีกด้วยค่ะ  เมื่อลูกดูดนมในท่าที่สบายลูกจะดูดได้เยอะ ดูดได้เกลี้ยงเต้า  น้ำนมจะถูกกระตุ้นให้ไหลมาเทมาอย่างแน่นอน

ได้ทราบกันแล้วนะคะว่า  นมแม่นั้นเพียงพอกับลูกหรือไม่  มีข้อสังเกตที่คุณแม่ต้องคอยดูเวลาลูกดูดนม และสิ่งสำคัญที่แม่ไม่ควรพลาด คือ  การดูแล บำรุงรักษาร่างกายของตัวเอง  พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ  ทานอาหารที่มีประโยชน์  ลดความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูกด้วยการหาอะไรทำผ่อนคลาย เช่น  ฟังเพลง  อุ้มลูกเดินเล่น  แทนที่จะจับเค้าอยู่แต่ในบ้าน เมื่อจิตใจสบาย ร่างกายจะดีตามไปด้วยนะคะ เป็นกำลังให้คุณแม่ให้นมทุกคนค่ะ

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular