ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ มาดูเคล็ดลับดี ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกันค่ะ..
1.เรื่องการทานอาหารรสจัด
โดยเฉพาะในช่วงแพ้ท้อง บางครั้งแม่ท้องหลาย ๆ ท่าน ก็อดไม่ได้ที่จะทานอาหารรสจัดใช่ไหมคะ แม้จะมีความเชื่อว่า คุณแม่ที่ทานอาหารรสเผ็ด ลูกเกิดมาจะผมน้อยแต่ขอบอกก่อนค่ะว่า ในทางการแพทย์ อาหารรสเผ็ดจะทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดท้อง เสียดท้อง กระเพาะลำไส้ปั่นป่วน หรือท้องผูกเท่านั้น ผมดกผมบาง เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์มากกว่าไม่เกี่ยวกับอาหารรสเผ็ดแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไร หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดหรือรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัดจะดีกว่านะคะ นิด ๆ หน่อย ๆ คงไม่ว่ากัน และดื่มน้ำตามมาก ๆ นะคะ
2.เรื่องการนอน
คุณแม่ที่ท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที ไม่ควรนอนหงาย เพราะในช่วงนี้ ทารกน้อยจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เวลานอนหากนอนหงายจะกดทับทำให้คุณแม่นอนไม่สบายและอึดอัด เพราะน้ำหนักของมดลูกที่เพิ่มขยายขึ้น กดลงบนเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลง อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้
แก้ไขได้โดยการนอนตะแคงพลิกซ้ายหรือขวาก็ได้ค่ะ หรือหากรู้สึกเมื่อยอยากเปลี่ยนท่าทางหรืออยากนอนหงาย เอาหมอนมาหนุนศีรษะให้สูงขึ้น ใช้หมอนรองเท้าให้สูงขึ้น เพื่อให้หน้าท้องหย่อนตัว หลังแนบกับพื้นจะช่วยลดอาหารปวดหลัง ลดการบวมปลายเท้า ช่วยให้เลือดที่คั่งตามปลายเท้าไหลเวียนสู่หัวใจได้สะดวก และยังบรรเทาอาการริดสีดวงทวารอีกด้วยค่ะ
3.เมื่อมีอาการเสียดท้อง
หากเกิดอาการจุกเสียดท้องบ่อย ๆ และมีอาการท้องแข็งเกร็ง ซึ่งคุณแม่ที่ต้องยืนเป็นเวลานาน ๆ มักจะเกิดอาการเช่นนี้ได้ ต้องหาเวลานั่งหรือนอนพักผ่อนบ้างในช่วงวันนะคะ เพราะอาจส่งผลทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้
4.เมื่อเกิดอาการท้องอืด
น้ำขิงช่วยได้ ประโยชน์ของน้ำขิง คือ ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่ไม่ควรผสมน้ำตาลลงในน้ำขิงเยอะเกินไปนะคะ โยเฉพาะคุณแม่ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ ทางที่ดีดื่มน้ำขิงไม่ผสมน้ำตาลเลยจะดีที่สุดค่ะ
5. หากดื่มนมสดไม่ได้
มีแม่ท้องหลายคนที่ในช่วงตั้งครรภ์ไม่สามารถดื่มนมสดได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องฝืน ให้คุณแม่ดื่มนมถั่วเหลืองแทนได้ เพราะในนมถั่วเหลืองจะมีโปรตีนและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องดื่มในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อจะได้คุณค่าเทียบเท่านมสด
6. เมื่อคนท้องเป็นหวัด
อาการหวัดมักจะเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะคุณแม่ท้องที่มีร่างกายอ่อนแอ แนะนำว่า ไม่ควรทานยาแก้แพ้จำพวกยาปฏิชีวนะทุกชนิด เพราะอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นผลเสียต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ ดังนั้น หากจะทานยาควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด ตามปกติแล้วอาการหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะหายเองภายในไม่กี่วัน ให้คุณแม่นอนพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำอุ่น และทานผักผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซีต้านหวัด จะดีขึ้นเองภายในไม่ช้าค่ะ
7.เรื่องเพศสัมพันธ์
การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับแม่ท้องที่เคยแท้งมาก่อน หรือเคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด ควรงดเว้นในช่วง 3 – 4 เดือนแรก หรือในช่วงครรภ์อ่อน รวมถึงช่วงท้องแก่ใกล้คลอดก่อน 1 เดือน เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
เคล็ดลับดี ๆ ที่เราแนะนำไปข้างต้นนี้ แม่ท้องสามารถนำไปใช้ปฏิบัติตนในช่วงตั้งครรภ์ได้ค่ะ เพื่อเตรียมรับมือกับอาการต่าง ๆ ที่มักจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของแม่ท้องและทารกน้อยในครรภ์นั่นเอง
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- ชวนแม่ท้อง สังเกตอาการครบกำหนดคลอด
- เรื่องน่ารู้..ร่างกายคนท้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรใน 9 เดือน
- แม่ท้องควรมีน้ำหนักเท่าไร ในแต่ละไตรมาส