fbpx
Homeเรื่องน่ารู้เรื่องน่ารู้ของลูกน้อยมาเช็คสิ่งผิดปกติของร่างกายทารกแรกเกิด 7 เรื่องนี้กันเถอะ

มาเช็คสิ่งผิดปกติของร่างกายทารกแรกเกิด 7 เรื่องนี้กันเถอะ

ลูกน้อยของคุณแม่น่ารักบอบบางมาก คุณแม่มองกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ แต่คุณแม่จะคอยมองคอยชื่นชมเพียงอย่างเดียวไม่ได้นะคะ ต้องดูและหมั่นสังเกตส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลูกน้อยด้วยว่ามีอะไรผิดปกติไปไหม จะได้ดูแลและแก้ไขหรือพาไปรักษาได้ทันท่วงที

ร่างกายส่วนต่าง ๆ ของลูกตั้งแต่แรกเกิด ที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตดู มีอะไรบ้าง

1.กระหม่อม:

กระหม่อมคือ ส่วนที่ยังไม่เชื่อมต่อกันของกะโหลกศีรษะ จะมีอยู่ 2 จุดคือด้านหน้าบนหน้าผากขึ้นไปและอีกจุดอยู่ที่ด้านหลัง ในช่วงแรกกระหม่อมของลูกจะนิ่มมาก และจะปิดสนิทตอนลูกอายุประมาณ 1 ปี –  1 ปีครึ่ง กระหม่อมหลังจะปิดตอนประมาณ 6 เดือนค่ะ สิ่งที่ต้องระวังคือไม่ควรให้อะไรกระทบกระเทือนตรงกระหม่อม และถ้ากระหม่อมบุ๋มลงไปมากกว่าปกติหรือนูนขึ้นมาแสดงว่าผิดปกติต้องรีบพาลูกไปหาหมอค่ะ

2.ใบหู:

เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกได้ยินเสียงต่าง ๆ การทำงานคือ เกิดการได้ยินจากคลื่นเสียงมากระทบแก้วหู ผ่านกระดูกหูไปที่ประสาทหู ทำให้ได้ยินเสียง ถ้าลูกมีพัฒนาการด้านหูผิดปกติหรือฟังไม่ค่อยได้ยิน จะส่งผลกระทบถึงการพูดด้วยค่ะ คุณแม่ควรสังเกตไม่ให้มีพวก แมลง เห็บ หมัด เข้าไปในหู และไม่ควรแคะหูหรือปั่นหูของลูกแรง ๆ เพราะอาจไปกระทบกับแก้วหูทำให้หูของลูกน้อยอักเสบได้ค่ะ ในช่วงที่ลูกอายุประมาณ  6 เดือนลูกควรรับรู้หันตามเสียงเรียกได้แล้วค่ะ

3.ดวงตา: 

เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการมองเห็นของลูก น้ำตาของลูกก็สำคัญมากเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ตาของลูก น้ำตาจะหลั่งออกมาเพื่อชำระล้างสิ่งแปลกปลอมนั้นค่ะ คุณแม่ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับดวงตาของลูกมากเกินไป แต่ต้องคอยสังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น ถ้าตาขาวไม่ขาว ออกสีแดงหรือบวม หรือถ้ามีตาแฉะ ขี้ตาเป็นสีเหลืองเขียว หรือหนังตาเปิดไม่เท่ากัน กลอกตาไม่ได้ หรือตาสู้แสงไม่ได้ ถ้าเป็นดังที่กล่าวมาต้องพาลูกพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยค่ะ

4.จมูก:

มีหน้าที่หายใจและดมกลิ่นต่าง ๆ ในรูจมูกมีขนเล็กๆเพื่อป้องกันฝุ่นละออกและแมลง ขนเล็ก ๆ ในจมูกนี้มีหน้าที่คอยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่สูดเข้าไปเพื่อทำให้จามออกมาค่ะ และเมื่อลูกไม่สบายเป็นหวัดลูกจะมีน้ำมูกไหลออกมาให้ใช้น้ำเกลือหยอด หรือ เช็ดเบา ๆ หรือใช้ลูกยางดูดออก ถ้าใช้สำลีต้องใช้อย่างระวังเพราะถ้าลูกดิ้นอาจจะไปโดนในจมูกได้ค่ะ อย่าใช้นิ้วแคะจมูกลูกเด็ดขาดเพราะโพรงจมูกลูกอาจบาดเจ็บได้ค่ะ

5.เล็บ:

เล็บ อยู่บนมือน้อย ๆ ของลูกที่ใช้หยิบจับสิ่งของ ถ้าเล็บลูกยาวเชื้อโรคอาจเข้าไปสะสมอยู่ได้ และเล็บที่ยาวอาจไปข่วนหน้าตาของลูกค่ะ เล็บมือของลูกจะยาวเร็วกว่าเล็บเท้า 2 เท่า ควรตัดเล็บให้ลูก 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง คุณแม่ควรใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็ก เพราะจะไม่มีมุมแหลมป้องกันรอยขีดข่วนที่จะเกิดกับลูกได้ สิ่งผิดปกติที่เกิดกับเล็บของลูกที่ต้องพบหมอคือ เล็บมีสีเขียวคล้ำสีดำ เล็บบิดเบี้ยว เล็บล่อนเล็บกร่อน เป็นต้น

6.สะดือ:

สายสะดือของลูกหลังคลอดจะหลุดไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่เด็กบางคนก็อาจจะนานกว่านั้นและคุณแม่ต้องทำความสะอาดให้ตามที่คุณหมอแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากสะดือหรือผิวหนังรอบ ๆ มีลักษณะสีแดงหรือมีกลิ่นเหม็น แสดงว่ามีการติดเชื้อ หรือถ้าเห็นว่ามีเลือดออกจากสะดือ หรือ สะดือของลูกแฉะ สะดืออาจอักเสบให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที ถ้าสะดือลูกมีลักษณะจุ่นก็ไม่ต้องกังวลค่ะเพราะสะดือลูกจะยุบไปเองภายใน2-3 เดือนเด็กบางคนอาจนานหน่อยประมาณ 1 ปีค่ะ

7.ผิวหนัง:

ผิวหนังแรกเกิดของเด็กทารกจะบอบบางและหากคุณแม่สังเกตดูดี ๆ จะมีเหมือนผื่นเล็ก ๆ จุดแดงขึ้นทั้งตัวและจะหายไปเองในภายหลัง สิ่งที่ผิดปกติของผิวเด็ก คือ หากผิวของลูกมีผื่นขึ้นที่หน้า ที่ก้น ขึ้นเยอะกว่าปกติให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและดูอาการ การทำความสะอาดผิวของทารกแรกเกิดเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาอาบน้ำให้ลูก คุณแม่ควรเช็ดตัวลูกให้แห้งและควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังจากขับถ่ายไม่ควรใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลาเพื่อให้ผิวของลูกได้ระบายอากาศบ้างค่ะ

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ติดตัวลูกมาตั้งแต่เกิด คุณแม่ต้องคอยสังเกตให้ดีว่ามีสิ่งใดผิดปกติกับร่างกายของลูกหรือไม่ เพราะทุกส่วนของลูกมีความสำคัญกับคุณแม่ใช่ไหมคะ 😀

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular