fbpx
Homeการตั้งครรภ์การคลอดและหลังคลอดหมอสูติ เตือนใจแม่ท้อง เรื่อง การคลอดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน

หมอสูติ เตือนใจแม่ท้อง เรื่อง การคลอดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน

ผู้ใช้ Pantip ท่านหนึ่ง ใช้ชื่อ ‘ฟ้าหมาดฝน’ ซึ่งเป็นคุณหมอสูติ ได้โพสต์ให้ความรู้ สำหรับ คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว หรือ มีภาวะที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด คุณหมอสูติท่านนี้แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้คลอดที่โรงพยาบาลรัฐบาลมากกว่า เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่มากจนเกินไป เพราะ การคลอดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน บางที่ไม่สามารถดูแลเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือ เด็กที่มีภาวะฉุกเฉินได้ เนื่องจากศักยภาพไม่ถึง และมีค่าใช้จ่ายสูงมากจนคุณแม่บางคนแทบช็อก

หมอสูติ เตือนใจแม่ท้อง เรื่อง การคลอดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน

โดยคุณหมอให้ความรู้ไว้ ดังนี้

“เตือนใจคุณแม่ท้อง เรื่องการเข้า รพ.เอกชน ตัวเราเองเป็นหมอสูติ ที่ทำงาน รพ.รัฐเป็นหลัก และทำเอกชนพาร์ทไทม์นะคะ ปัญหาที่พบคือ คนท้อง ที่มีปัญหาแทรกซ้อนโดยเฉพาะกรณีคลอดก่อนกำหนด เวลาเข้ารักษาในรพ.เอกชน จะเจอปัญหา

1.ศักยภาพไม่ถึง

เช่น กรณีคลอดก่อนกำหนด รพ.เอกชนส่วนมาก มักจะดูแลเด็กได้ที่อายุครรภ์ราวๆ 34 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ถ้าระดับ 28-34 ส่วนมากจะดูแลไม่ได้ นอกจากรพ.ที่ศักยภาพสูงจริง ๆ และถ้าต่ำกว่า 28 สัปดาห์ คือเอกชนเลี้ยงไม่รอดหรอกค่ะ ต้องเข้า รพ.รัฐบาลใหญ่ๆ เหตุผลเพราะว่า การลงทุนเพื่อสร้าง NICU สำหรับเด็กอ่อน รวมจึงจ้างหมอพยาบาลระดับพระกาฬ มันสูงมากนะคะ และในที่สุดมันก็จะเป็นต้นทุนค่ารักษาต่อไปค่ะ ดูแล้วคนทั่วไปคงไม่มีกำลังจ่าย เขาจึงไม่พัฒนาในส่วนนี้ค่ะ (ต่างจากรัฐบาลซึ่งการสร้างห้อง คน ของ พวกนี้ ไม่ได้คิดเป็นราคาอะไรคือมาเป็นงบประมาณ) อีกประเด็นคือ การดูแลแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อน การสังเกตอาการต่างๆที่เป็นปัญหาวิกฤต พยาบาลและทีมของเอกชนก็มักจะไม่ได้รับการฝึกฝนเท่ารพ.รัฐเช่นกัน กรณีคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ อะไรแบบนี้ การนอนในรพ.เอกชนค่อนข้างเสี่ยงค่ะ

2.ต่อเนื่องจากข้อ 1.คือราคาสูง

สมมติว่ารพ.เอกชนดังกล่าว สามารถดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดได้ประมาณนึง ค่าใช้จ่ายก็มักสูงลิ่วเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะฝันถึงนะคะ ต่อให้เด็กคลอดก่อนกำหนด แบบธรรมดาๆ ไม่ได้ใช้ยากระตุ้นอะไรพิเศษ อาจจะวิ่งเป็นหลักหมื่นต่อวัน ถ้าพูดถึงกรณีคนต่างจังหวัด (แบบจังหวัดที่เราอยู่เนี่ย)ซึ่งบางคนก็เป็นคนทำงานทั่วไป ทำไร่ทำนาก็มี คือไม่ได้เล่นเน็ท ไม่รู้ข้อมูลอะไรมาก บางคนประเมินว่าหลักพันก็หรูแล้ว พอเห็นตัวเลขจริงนี่แทบช็อค (เอาว่าขนาดเราเองเป็นหมอนะคะ เคยมีเหตุจำเป็นพาแม่ไปตรวจ OPD เอกชนที่ต่างจังหวัด เห็นบิลก็ช็อคเหมือนกันค่ะ)

3.ถ้ามีเหตุต้องส่งเข้ารพ.รัฐในที่สุด ก็ยากเหลือแสน

โดยเฉพาะเด็กคลอดก่อนกำหนดนะคะ หาที่รับยากมากค่ะ แต่ถ้าคุณไปเริ่มต้นกับรพ.รัฐแต่แรก เขาก็ต้องรับอยู่แล้วแหละ ที่ต้องมาเขียน เพราะคนไข้รพ.เอกชนมักไม่เข้าใจในความหวังดีของเรา เวลาที่เราอยู่เอกชนแล้วเจอเคสนะคะ คนไข้มักไม่เข้าใจและไม่พอใจว่าทำไมเราต้องส่งเขาเข้ารัฐบาล ซึ่งการที่เราเป็นหมอ รพ.รัฐอยู่แล้ว เราก็ยึดความปลอดภัยคนไข้เป็นหลัก และเราก็คุยเพื่อส่งเคสกับรพ.รัฐได้ง่ายด้วย แต่เราก็ไม่สามารถอธิบายอะไรกับคนไข้ได้มาก ก็ ณ ขณะนั้นเราอยู่ในสถานะหมอ รพ.เอกชน จะให้พูดไปว่า ที่นี่มันไม่พร้อมอย่างงั้นไม่ดีอย่างงี้ เลี้ยงลูกคุณไม่ไหวหรอก ได้เหรอ??? ถ้าคนไข้เจอหมอฟูลไทม์ บางท่านก็จะพยายามเก็บคนไข้ไว้จนถึงที่สุด ซึ่งบางครั้งเป็นการรักษาบนความเสี่ยง (แต่คนไข้ไม่รู้ตัวนะคะ กลับมีความพอใจมากกกก)เพราะมันเป็นการยากที่เขาจะยอมรับว่า รพ.ตัวเอง ศักยภาพไม่เพียงพอที่จะดูเคส ก็จะพยายามถูลู่ถูกังอยู่กันไป ซึ่งบางเคสก็ตลอดรอดฝั่งไปได้ด้วยดี (เด็กคลอดก่อนกำหนดบางคนก็อาการดีเหลือเชื่อ) แต่บางเคส ก็แย่เกินกว่าคาดฝันค่ะ แล้วนึกดูว่า คุณเข้าไป ผ่ากับเขาเรียบร้อย เสร็จปุ๊บออกมาหมอเด็กบอกเด็กหอบต้องหาที่ส่งตัวลูก ระหว่างยังหาไม่ได้ ค่ารักษาวิ่งทุกวันเป็นหมื่นเป็นแสนจะทำยังไงแถมการรักษาก็ยังไม่เต็มร้อยอีก

อันนี้ก็ฝากให้คิดนะคะ กรณีคลอดก่อนกำหนด และกรณีอื่นๆซึ่งสุดท้ายหมออาจจำเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนดเช่นกัน เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกเกาะต่ำเลือดออกมาก ถ้ารู้ตัวว่าความเสี่ยงสูงเข้ารัฐบาลได้ก็เข้าเถอะค่ะ หรือถ้าหมอรพ.เอกชนบอกว่า ควรไปรพ.รัฐก็ไปเถอะค่ะอย่างอแงเลย หากกระทบต่อความรู้สึกใครต้องขออภัยนะคะ และเชิญหมอสูติหมอเด็กแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ค่ะ”

คุณแม่ที่ได้ลองอ่านดูมีความคิดเห็นกันอย่างไรคะ เห็นด้วยกับคุณหมอหรือไม่ อย่าลืมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้คุณแม่ ๆ ท่านอื่นได้รู้กันด้วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจากคุณ ‘ฟ้าหมาดฝน’ สมาชิก pantip.com

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular