fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการเลี้ยงลูกวัยแรกเกิด - 1 ขวบการนอนของลูกวัย 4-6 เดือน ทุกสิ่งที่คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องรู้!

การนอนของลูกวัย 4-6 เดือน ทุกสิ่งที่คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องรู้!

ช่วงที่ลูกอายุ 4-6 เดือนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีของคุณแม่ เพราะเด็กจะรู้จักช่วงเวลากลางวันและกลางคืนแล้ว สามารถแยกการนอนได้ดีขึ้น คุณแม่จะหลับได้ดีในตอนกลางคืน และจะตื่นขึ้นมาในตอนเช้าอย่างสดชื่น

ในช่วงที่ ลูกอายุ 4 เดือน จะนอนประมาณ 14 ชั่วโมงต่อวัน ลูกอายุ 5-6 เดือนจะนอนเพียง 10-11 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงนี้ลูกจะนอนช่วงกลางวันเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น อาจจะนอนยาว 1 รอบ หรือ นอน 2 รอบ รอบละ 1 หรือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น และจะไปนอนยาวในช่วงกลางคืน อาจจะตื่นมากินนมเพียง 1 รอบเท่านั้น เท่ากับว่าคุณแม่จะได้นอนหลับพักผ่อนไปพร้อมกับลูกในตอนกลางคืนอย่างเต็มที่

ลูกอายุ 4 เดือนแล้ว ลูกสามารถจำหน้าตาและรับรู้เสียงของคุณแม่ หรือคนเลี้ยงได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ช่วงนี้คุณแม่สามารถสอนและฝึกให้ลูกได้อย่างง่ายดาย

ตารางการนอนของเด็ก 4-6 เดือน

ลูกเริ่มรู้เวลานอน และ จะนอนได้ดีในห้องนอนตัวเอง บนเตียง หรือที่นอนของตัวเอง ถ้าลูกนอนตรงเวลา คือนอนในตอนกลางวันแค่ 3 ชั่วโมง ทำให้กิจกรรมในตอนกลางวันมากขึ้น และลูกเหนื่อยขึ้น พอถึงเวลาประมาณ 6 โมงเย็นลูกจะเริ่มง่วง และร้องไห้งอแงแบบที่คุณแม่ไม่ทราบสาเหตุ ว่าเป็นเพราะอะไร คุณแม่บางคนอาจเรียกอาการนี้ว่าโคลิค เพราะเวลานอนจริง ๆ ของลูกคือ 1-2 ทุ่ม ลูกก็จะยังไม่นอน แต่อาการง่วงของลูกก็ไม่สามารถจัดการได้

เด็กในช่วงนี้จะนอนมากสุดไม่เกิน 15 ชั่วโมง การนอนจะเสริมพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน หรือเรียกว่าฮอร์โมนในการเจริญเติบโตนั่นเอง (growth hormone)ฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาในตอนที่ลูกหลับลึกนั่นเอง และลูกจะปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตของคุณได้มากขึ้น

เด็กบางคนอาจจะมีเรื่องรบกวนทำให้ไม่ได้รับ growth hormone และทำให้มีร่างกายแคะแกรน เลี้ยงไม่โต นอนหลับไม่สนิท ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานของปอด และระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ดังนั้นการทำให้ลูกนอนเป็นเวลา และ นอนนาน ทำให้ growth hormone ทำงานอย่างเต็มที่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กในช่วงนี้ที่สุดค่ะ

เด็กในช่วงนี้จะหลับยาวตอนกลางคืนประมาณ 8-12 ชั่วโมง อาจตื่นแค่ 1 รอบเพื่อกินนมเท่านั้น เด็กบางคนจะนอนตั้งแต่ 1 ทุ่ม และจะตี่นตอนประมาณ ตี 5 หรือ ตื่นไม่เกิน 8 โมงเช้า และเพราะได้นอนเป็นเวลานาน จึงทำให้เมื่อตื่นขึ้นมา ลูกก็จะมีอารมณ์ดี สดชื่น พร้อมจะเรียนรู้ได้ตลอด ในช่วงเวลานี้คุณแม่อาจจะไม่มีเวลาว่างทำงานบ้าน เพราะต้องอยู่เล่นกับลูกและเลี้ยงลูกไปอีก 3-4 ชั่วโมงกว่าลูกจะเริ่มหลับกลางวันอีกครั้ง

ถ้าไม่อยากให้ลูกร้องไห้งอแงเพราะง่วงนอนในตอนเย็น คุณแม่ควรฝึกให้ลูกนอนกลางวันซัก 2 รอบ เช่น ตอนสาย ๆ ของวัน นอนประมาณ 10-11 โมงเช้า และนอนอีกครั้งตอนประมาณ 2-3 โมงเย็น ลูกจะตื่นขึ้นมาสดชื่น ไม่ร้องไห้งอแงในตอนเย็น และจะเริ่มนอนยาวตอนประมาณ 1-2 ทุ่มนั่นเองค่ะ

ไม่ควรให้ลูกนอนตอนกลางคืนเร็วเกินไป เช่น ให้นอนในตอน 6 โมงเย็น เพราะลูกเริ่มง่วงและงอแง ถ้าให้ลูกนอนตอน 6 โมงเย็น ลูกจะตื่นประมาณ 3 ทุ่ม และจะไม่ยอมนอนต่อ ลูกจะกินนมและเล่น ซึ่งจะทำให้ลูกเหนื่อย และไม่ถูกหลักในการนอนของเด็กเล็กค่ะ

สร้างความเคยชิน และ ฝึกลูกให้นอนอย่างมีคุณภาพ

1. ควรอาบน้ำอุ่นให้ลูกในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ใส่ชุดนอนให้ลูกเพื่อความสบายตัว อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง เปิดเพลงกล่อม หรือร้องเพลงกล่อม ให้เป็นเพลงเดียวกัน ลูกจะเข้าใจว่านี่ใกล้ถึงเวลานอนแล้วค่ะ

2. นอนให้เป็นเวลาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูก แต่การตื่นให้เป็นเวลาก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าถึงเวลาต้องตื่นควรค่อย ๆ ปลุกให้ลูกตื่นเพื่อมากินนม หรือ เสริมพัฒนาการในด้านอื่นด้วย ถ้าตื่นตรงเวลาลูกจะนอนตรงเวลาในรอบต่อไปค่ะ

3. ให้ลูกนอนหลับด้วยตัวเอง เมื่อสังเกตอาการง่วงของลูกและรู้เวลาที่ลูกนอนแล้ว ให้ค่อย ๆ วางลูกลงบนเตียง หรือ ที่นอนของลูก ให้ลูกนอนเอง คุณแม่อาจจะนั่งอยู่ในห้องด้วยใกล้ ๆ แต่ไม่ต้องชวนลูกคุย เปิดเพลงกล่อมให้ลูกหลับไปเองโดยไม่ต้องโอ๋นะคะ

4. เมื่อลูกนอนหลับสนิทแล้ว คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนไปพร้อม ๆ กับลูกเลย เพราะตอนกลางคืนต้องตื่นมาให้นมลูก และต้องลุกมาดูลูกเป็นช่วง ๆ ด้วย เมื่อคุณแม่พักผ่อนในตอนกลางคืนอย่างเต็มที่ ในตอนกลางวันคุณแม่จะทำงานบ้านและเลี้ยงลูกได้เต็มที่แบบไม่เหนื่อยค่ะ

ลูกชอบตื่นมาร้องตอนกลางคืน เพราะอะไร?

เด็กทารกบางคนมักจะตื่นขึ้นมาร้องในตอนกลางคืน แต่เด็กบางคนก็นอนยาว อาจจะตื่นมากินนมเพียงแค่ครั้งเดียว มาดูกันนะคะ ทำไมลูกถึงชอบตื่นตอนกลางคืน

1. ทารกชอบตื่นมาตอนกลางคืน เพราะ สมองของพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงทุกรอบของการนอน ในช่วงแรกเด็กทารกจะตื่นขึ้นมา 4-5 ครั้งต่อคืน แต่จะสามารถปรับตัวให้ตื่นน้อยลงได้ตามช่วงอายุที่มากขึ้นค่ะ

2. ทารกบางคน จะนอนยาวและหลับลึกได้ถึง 6 ชั่วโมงในช่วงก่อนอายุ 6 เดือนโดยไม่ได้ขยับเปลี่ยนท่าเลย แต่เมื่อโตขึ้น คลื่นสมองของทารกจะคล้าย ๆ กับผู้ใหญ่ อาจจะรู้สึกตัวตื่นบ้าง เด็กบางคนก็ร้องไห้ แต่บางคนก็ตื่นขึ้นมาเฉย ๆ และนอนต่อได้เอง

3. ตื่นขึ้นมาร้อง เป็นเรื่องปกติของเด็กทารกที่จะตื่นขึ้นมาร้องในช่วงกลางคืน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจ เพราะการร้องของเด็กไม่ได้เป็นเรื่องที่อันตราย เด็กทารกบางคนจะมีวิธีจัดการตัวเอง เช่น เอานิ้วมาดูด เด็กจะมีอาการร้องไห้น้อยลง และเลิกร้องจนนอนหลับไปเอง

4. เป็นเพราะช่วงอายุของเด็ก ในช่วงที่ลูกอายุ 4 เดือน เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจะร้องไห้ทันทีไม่ว่าจะหิว หรือ ตื่นขึ้นมาเพราะอาการตกใจ หรือสะดุ้ง คุณแม่สามารถปลอบโยนหรือให้นมลูกได้ เพื่อให้ลูกสงบและนอนหลับไปอีกครั้ง แต่สำหรับเด็ก 6 เดือน ลูกจะตื่นขึ้นมาแต่ยังไม่ร้อง จะนอนมองสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ไปก่อน อาจจะนอนเกลือกกลิ้ง ในเตียง และ หลับไปเองโดยที่คุณแม่ไม่ต้องทำอะไรค่ะ

5. ร้องเพราะฟันงอก เด็ก 5 – 6 เดือน ฟันจะเริ่มงอก เด็กจะรู้สึกมีอาการปวดฟัน ทำให้ตื่นขึ้นมาร้องกลางดึก ลูกอาจจะเอานิ้วเข้าไปอม หรือ เอาของเล่นมากัดเพื่อผ่อนคลายอารมณ์และนอนต่อค่ะ

6. ตื่นขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปจะตื่นขึ้นมาเองเหมือนผู้ใหญ่ที่ตื่นเองโดยไม่ต้องปลุก อาจจะตื่นขึ้นมาทำเสียงแปลก ๆ หรือตื่นขึ้นมาร้องไห้ถ้ามองไม่เห็นคุณแม่อยู่ในสายตา แต่ถ้าเขาเห็นว่ามีคนนอนอยู่ด้วยจะรู้สึกปลอดภัย และหลับไปต่อได้เอง

7. ร้องเพราะอาการเจ็บป่วย เด็กทารกส่วนมากจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อึดอัดท้อง หรือ การติดเชื้อในลำไส้ อาการเหล่านี้จะทำให้ลูกร้องไห้หนักมาก ถ้าลูกร้องหนัก ๆ จนตัวงอ คุณแม่ก็คิดไว้ก่อนเลยว่าอาจจะร้องไห้เพราะมีอาการเจ็บป่วยค่ะ

8. ติดขวดนม เด็กบางคนติดมาก จะตื่นขึ้นมาร้อง 4-5 ครั้งต่อคืน เพื่อให้ได้ดูดนม หรือกัดจุกนมเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ถึงจะนอนต่อได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คุณแม่ต้องมีวิธีจัดการ หรือฝึกให้ลูกเลิกติดขวดนมให้ได้ค่ะ

เด็กทารก 4-6 เดือน จะรู้เรื่องและสามารถเรียนรู้เรื่องการฝึกวินัยแล้ว คุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกให้ง่าย ไม่เหนื่อยมาก ต้องรู้จักการสร้างวินัยการนอน การอยู่ การกินของลูกให้ถูกวิธี เพราะลูกพร้อมจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาค่ะ

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular