fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการเลี้ยงลูกวัยแรกเกิด - 1 ขวบการนอนของลูกวัยแรกเกิด ถึง 3 เดือน ทุกสิ่งที่คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องรู้!

การนอนของลูกวัยแรกเกิด ถึง 3 เดือน ทุกสิ่งที่คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องรู้!

การนอนหลับของเด็กทารกแรกเกิด เป็นเรื่องที่คุณควรรู้และศึกษาไว้ก่อน เพราะเด็กบางคนกว่าจะหลับ หรือ นอนตามปกติเป็นเรื่องยาก ยิ่งบางคนไม่ยอมหลับแต่ง่วงสุด ๆ ก็จะร้องไห้งอแงอีกด้วย บทความต่อไปนี้จะช่วยทำให้คุณ รู้จักการนอนของลูกมากขึ้นค่ะ

เด็กแรกเกิด -3 เดือนแรก เด็กที่เกิดมาแต่ละคนจะมีร่างกาย และ จิตใจที่แตกต่างกัน การนอนหลับก็จะต่างกันด้วย คุณเป็นแม่มือใหม่สิ่งที่คุณต้องทำคือ ฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลา จัดตารางการนอนของลูก คุณจะได้รู้ว่าเด็กแรกเกิด – 3 เดือน มีเวลาการนอนอย่างไร

การนอนของลูกวัยแรกเกิด – 1 เดือน

  • การนอนของทารกในช่วงนี้ จะนอนหลับดีในช่วง สัปดาห์แรก
  • ลูกจะหลับทั้งวันรวมกันประมาณ 18 ชั่วโมง
  • ลูกจะหลับครั้งละประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตลอดทั้งวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน
  • ในช่วงเดือนแรกคุณแม่อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะลูกจะตื่นบ่อย เพราะยังแยกกลางวันและกลางคืนไม่ได้ ลูกจะนอนแบบไม่ได้สนใจเวลา

ในช่วงเดือนแรกคุณจะเห็นว่าลูกนอนเยอะ นั่นเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้สมองของทารกมีการพัฒนา และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเดือนต่อไปค่ะ

การนอนของลูกวัย 2 เดือน

  • การนอนของลูกอายุ 2 เดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเล็กน้อย ชั่วโมงการนอนหลับของลูกจะน้อยลง อาจจะอยู่ที่ 15-18 ชั่วโมงต่อวัน
  • ในช่วงตอนกลางวันลูกอาจจะหลับประมาณ 3 รอบ รอบละ 1-2 ชั่วโมง
  • ในช่วงกลางคืน ลูกจะหลับลึก ประมาณ 2-3 รอบ รอบละ 4-5 ชั่วโมง

คุณจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการนอนของลูกวัยนี้ ตั้งแต่ช่วงประมาณอายุ 6 สัปดาห์ หรือทารกบางคนเริ่มเปลี่ยนแปลงตอนอายุ 8 สัปดาห์

การนอนของลูกวัย 3 เดือน

  • ทารกในช่วงนี้จะนอนหลับรวมกันในหนึ่งวันเพียง 15 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ลูกจะนอนในช่วงกลางวันสั้นลง นอนเพียง 2-3 รอบ รอบละ 1-2 ชั่วโมง
  • ตอนกลางคืนลูกจะนอนยาว 5-6 ชั่วโมง หรือ นอนยาวจนถึงเช้า หรือตื่นขึ้นมาเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
  • ลูกเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาวะการนอนแบบปกติ และสามารถแยกกลางวันกลางคืนได้แล้ว
  • คุณแม่ที่มีลูกในช่วงอายุ 3 เดือนนี้ จะรู้สึกว่าได้พักผ่อนมากขึ้นในตอนกลางคืน เพราะอาจจะตื่นขึ้นมาให้นมลูกเพียง 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น เวลาที่เหลือก็นอนยาวตามลูกไปได้เลยค่ะ

ในช่วงที่ลูกอายุได้ 3 เดือน ระบบกระเพาะอาหารของลูกจะเริ่มทำงานได้ตามปกติ ระบบย่อยอาหารทำการย่อยนมได้ดีกว่าช่วงแรก นับจากนี้เป็นต้นไปลูกจะเริ่มหลับยาวในตอนกลางคืน และเริ่มปรับตัวให้รู้จักกลางวันและกลางคืนได้แล้วค่ะ

การสอนลูกน้อยของคุณให้รู้จักความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน:

การนอนหลับของลูกเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคุณแม่มือใหม่ คุณต้องรู้จักการนอนของลูกให้ดี การเลี้ยงลูกจะเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะมันไม่ง่ายเลย ที่จะทำให้ลูกรู้ว่าเวลาไหนคือเวลานอน ดังนั้น คุณต้องฝึกให้ลูกรู้จักกลางวัน และ กลางคืน กลางวันควรนอนอย่างไร กลางคืนต้องนอนนานแค่ไหน เพื่อช่วยลดความเหนื่อยล้าของคุณแม่นั่นเองค่ะ

1. สำหรับคุณพ่อคุณแม่ การนอนกลางคืนอาจจะชิน ว่าเราต้องนอนกลางคืน ทำงานในตอนกลางวัน แต่สำหรับทารกแรกเกิดเขาจะยังไม่รู้ คุณต้องค่อย ๆ ปรับตัว และเรียนรู้ไปกับลูก ลูกจะค่อย ๆ ชินกับการนอนในตอนกลางคืนเหมือนคุณ

2. ในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกหลังคลอด ลูกจะเริ่มเรียนรู้การนอนระหว่างกลางวันและกลางคืน คุณสามารถทำให้ลูกเริ่มชินได้คือ ในตอนกลางวันถ้าลูกเหมือนจะนอนหลับยาวเกิน 2-3 ชั่วโมงต่อรอบ ให้ปลุกลูกเพื่อตื่นมากินนม และเล่นกับเขาเล็กน้อย เพื่อเสริมพัฒนาการ และในตอนกลางคืนควรใส่ชุดนอนให้ลูกสิ่งนี้ลูกสามารถรับรู้ได้ ในตอนกลางคืนไม่จำเป็นต้องปลุกลูกมากินนม ควรปล่อยให้ลูกนอนให้ยาวที่สุด คุณแม่เพียงสังเกตการหายใจ และท่านอนของลูกให้ปลอดภัยก็พอค่ะ

3. เล่นกับลูกในตอนกลางวันให้มาก และลดการเล่นในตอนเย็นและช่วงเวลาก่อนนอน

4. เปิดเพลงกล่อมนอนให้ลูกฟังในตอนกลางคืนเท่านั้น

5. ตอนกลางวันให้นอนในห้องที่โปร่งแสง ในตอนกลางคืนให้นอนในห้องที่มืดสลัวเท่านั้น

วิธีช่วยให้ลูกนอนหลับ.. ไม่ยาก! คุณแม่มือใหม่ทำได้

1. พูดคุยกับลูก

ในช่วงแรกลูกจะไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพูดหรือต้องการสื่อสาร ลูกของคุณจะไม่สื่อสารตอบกลับอะไรมาทั้งนั้น แต่ สิ่งที่คุณพูดจะฝังเข้าไปในสมองของลูก ลูกจะมีพัฒนาการทักษะ การเรียนรู้และการสื่อสาร กลางคืนกล่อมให้ลูกนอนและสอนว่ามืดแล้วต้องนอนนะลูก การสื่อสารในตอนกลางวันและกลางคืนจะไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ลูกจะเข้าใจภายในเวลาไม่นาน ซึ่งคุณแม่ต้องอดทนรอค่ะ

2. ฝึกพัฒนาการเรื่องวงจรการนอนหลับของลูก

ในธรรมชาติของเด็กแรกเกิดร่างกายจะยังไม่สามารถรับรู้ถึงวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของมนุษย์ได้ ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการในช่วงวัย 3 – 4 เดือน เป็นต้นไป

สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการในเรื่องนี้ช้า มักจะนอนหลับมากขึ้นในเวลากลางวันและตื่นในเวลากลางคืน

คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก หรือฝึกให้เขารู้จักวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติได้ โดยการให้ลูกกินนมทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วงเวลากลางวัน และ ให้ลูกได้อยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงสว่างตามธรรมชาติ ถ้าลูกนอนก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนให้บรรยากาศมืดลงแต่อย่างใด เพื่อให้เขาคุ้นชินและแยกระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนได้

3. ทำตารางการนอนให้ลูก

เป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ เพราะถ้าลูกเป็นเด็กนอนตรงเวลา คุณจะไม่เหนื่อย ลูกจะไม่เหนื่อย พัฒนาการของลูกก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่ควรสังเกตอาการง่วงนอนของลูก เช่น หาว ขมวดคิ้ว ขยี้ตา เมื่อมีอาการเหล่านี้ ให้ดูเวลาว่าสมควรนอนแล้วหรือไม่ ถ้าถึงเวลาก็ให้ลูกนอนทันที ไม่เกิน 1-2 เดือน ลูกจะนอนตรงเวลากันทุกวัน และคุณก็สามารถกำหนดการทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ค่ะ

4. ทำกิจวัตรประจำวันก่อนนอน

เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกหนึ่งเรื่องสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรทำกิจวัตรประจำวันก่อนนอนร่วมกับลูกของคุณ สิ่งนี้นอกจากช่วยเรื่องการนอนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องพัฒนาการของเด็กอีกด้วย

คุณแม่สามารถเริ่มทำกิจวัตรประจำวันก่อนนอนกับลูกโดยใช้เวลาไม่เกิน 60-90 นาที ในช่วงเดือนแรก พอในเดือนถัดมาก็ปรับลดลงมาเหลือ 15-20 นาที ก็พอค่ะ

กิจวัตรประจำวันก่อนนอนอย่างเช่น การอาบน้ำ การนวดสัมผัสให้ลูก การเปลี่ยนผ้าอ้อม การเล่านิทาน และ การเปิดเพลงกล่อมนอน กิจกรรมดังกล่าวหากทำเป็นประจำก่อนนอนก็จะช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้นค่ะ

5. นอนกอดลูก

เพื่อเป็นการทำให้ลูกรู้และเข้าใจว่าถึงเวลานอนแล้วนะ คุณแม่ควรนอนกอดลูกเป็นประจำทุกวันก่อนนอน สิ่งนี้จะช่วยทำให้ทารกเข้าใจว่า เมื่อคุณแม่ทำแบบนี้หมายความว่าถึงเวลาที่เขาต้องนอนแล้วนั่นเอง สิ่งนี้นอกจากช่วยให้ลูกนอนหลับแล้ว ยังช่วยให้ลูกรู้สึกถึงความปลอดภัย ทำให้เขานอนหลับอย่างสงบอีกด้วย

6. ให้นมลูกให้ตรงเวลา

ทารก 1 – 3 เดือนแรก จะหิวบ่อยค่ะ เพราะขนาดกระเพาะที่ยังเล็กอยู่ ต้องคอยให้นมกันทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ในตอนกลางวันก็อาจจะไม่เป็นไร สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ แต่ในตอนกลางคืน ถ้าลูกยังหลับยาวไม่ได้ นอนไปแค่ 2-3 ชั่วโมงแล้วตื่นมาจะกินนม คุณแม่ควรจะกอด ๆ โอ๋ ๆ ให้ลูกนอนต่อก่อน อย่าเพิ่งป้อนนมทันที รอดูว่าลูกจะหลับต่อหรือไม่ (ส่วนมากหลับต่อไปอีก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ถ้าลูกหลับต่อ เป็นสัญญาณที่ดี ให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในตอนกลางคืนควรให้ลูกกินนมเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น เพื่อฝึกให้ลูกนอนยาว ๆ ค่ะ

การนอนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเด็กทารก และ ใน 1 ปีแรกเพราะเด็กจะมีพัฒนาการที่ดีมาก ๆ ทั้งด้านอารมณ์และด้านร่างกาย พัฒนาการดีจะทำให้เด็กพร้อมเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกวันค่ะ

เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular