ปัญหาลูกนอนกรน
โดยปกติ คนเราจะมีการหายใจสม่ำเสมอขณะตื่นเพราะสมองยังตื่นตัว กล้ามเนื้อทุกส่วนยังทำงานปกติ เมื่อร่างกายเริ่มหลับสมองเริ่มผ่อนคลาย กล้ามเนื้อทุกส่วนก็ผ่อนคลายตามไปด้วย รวมทั้งกล้ามเนื้อหายใจ ทำให้ขณะนอนหลับมีการหายใจไม่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดอาการนอนกรนและอาการหายใจลำบาก
ลูกนอนกรน มีสาเหตุจากอะไร
ลูกนอนกรนเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ เช่น ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต ภูมิแพ้ โรคอ้วน อาการนอนกรนพบบ่อยในเด็กที่มีอายุ 2-6 ปี เนื่องจากวัยนี้ต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ จะโตขึ้น ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย และกำลังกลายเป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายกลุ้มอกกลุ้มใจ เพราะอันตรายที่แฝงมากับเสียงกรนน้อย ๆ นั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของลูก
- ต่อมทอนซิล (ที่เห็นเป็นก้อนอยู่ข้างลิ้นไก่ ในลำคอทั้งสองข้าง) หรือต่อมอะดีนอยด์ (อยู่บริเวณด้านหลังโพรงจมูก) มีขนาดโตมาก เพราะมีการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังของบริเวณช่องปาก ฟัน ช่องคอ ช่องจมูก รวมทั้งโพรงไซนัส
- ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือภาวะที่มีเนื้องอกในโพรงจมูก เช่นริดสีดวงจมูก หรือมีผนังกั้นจมูกคด ซึ่งมักเกิดร่วมกับเยื่อจมูกบวมโต ทำให้ลูกแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก ต้องอ้าปากช่วยยิ่งทำให้นอนกรนมากขึ้น
- บางราย มีความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้กระดูกใบหน้าเล็ก หรือมีเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจใหญ่ เช่น มีลิ้นโต เป็นสาเหตุให้มี ภาวะอุดตันของทางเดินหายใจได้ในขณะนอนหลับ
ลูกนอนกรน ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
- พัฒนาการสมองและทางด้านร่างกายของลูกจะแย่ลง เพราะเกิดภาวะขาดออกซิเจนในขณะนอนหลับ ส่งผลให้ลูกเป็นคนหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เพราะกานนอนหลับไม่เพียงพอ
- ฮอร์โมนเจริญเติบโต (growth hormone) ซึ่งมีการหลั่งออกมาในขณะหลับสนิท มีปริมาณลดลงไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายของเด็กที่นอนกรน มีการพัฒนาด้านร่างกายแย่ลง ไม่โต เท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักและส่วนสูง
- ภาวะการอุดตันในจมูก ทำให้ต้องหายใจทางปาก การรับประทานอาหารไม่สะดวก และทำให้การรับรู้รส และกลิ่นลดลง ความอยากอาหารก็ลดลงด้วย
- กลายเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ไม่มีสมาธิในการเรียน ความสามารถในการจดจำลดลง มีปัญหาสมาธิสั้น
- มีอาการนอนหลับไม่สนิท นอนดิ้นไปดิ้นมา หรือมีปัญหาเรื่องปัสสาวะรดที่นอน นอนผวาตื่น หรือฝันร้ายบ่อย ๆ
ในกลุ่มอาการนอนกรน ก็จะมีการแบ่งเป็นการนอนกรนเฉย ๆ หรือนอนกรนที่มีการอุดกลั้นทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าลูกนอนกรนเฉย ๆ ยังไม่ต้องเข้าทำการรักษาเพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตอาการอยู่เสมอ แต่ถ้าลูกนอนกรนแบบที่มีการอุดกลั้นทางเดินหายใจ จะส่งผลทำให้อากาศเข้าสู่ร่างกายน้อย ออกซิเจนในเลือดลดลง คาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น เลือดเป็นกรด ระบบสารเคมีในร่างกายผิดปกติ ร่างกายจะมีเซลล์ตอบรับว่าหายใจไม่พอเลยต้องกระตุ้นให้ตื่น ทำให้นอนหลับไม่สนิท นับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรักษา
คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกขณะที่นอนหลับ หากมีอาการหายใจลำบาก หายใจแรง นอนกระสับกระส่าย นอนในท่าแปลก ๆ เหมือนหลับไม่สนิท อ้าปากหายใจ มีเสียงกรนขาดหายเป็นช่วง ๆ ทั้งที่กำลังหายใจ เหงื่อออกมาก ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ และในขณะที่หายใจเข้าหน้าอกยุบลงแต่ท้องป่องขึ้น แสดงว่าลูกของคุณกำลังมีปัญหาการนอนหลับ ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- มีอะไรซ่อนอยู่ในการนอนของเด็กทั้งกลางวันกลางคืน
- 6สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม หลังทารกกลับมานอนบ้านคืนแรก
- 5 ข้อแนะนำเรื่องการนอนของทารกที่พ่อแม่ควรรู้