ครรภ์เป็นพิษ ภาวะแทรกซ้อนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการหลายอย่างเกินขึ้น ทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ และยังมีภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้รับ เช่น เบาหวาน อาการบวม และ ครรภ์เป็นพิษ
อาการครรภ์เป็นพิษ คือ การที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตร (มม.) ปรอท หรือมีไข่ขาวในปัสสาวะของคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ มากกว่า 20 สัปดาห์เป็นต้นไปจนกระทั่งหลังคลอด และเมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว อาการครรภ์เป็นพิษ จะค่อย ๆ หายไปเองค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ ยังไม่ได้มีข้อระบุแน่ชัดว่าเกิดมาจากสาเหตุใด อาจจะเกิดจากฮอร์โมนบางตัวมีความผิดปกติ หรือ เกิดจากที่รกมีการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงจนทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษมีดังนี้
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่เป็นการตั้งครรภ์แรก
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีลูกห่างกันประมาณ 10 ปี
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีโรคประจำตัวมาก่อนอยู่แล้วก่อนการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ตั้งครรภ์แฝด
อาการของครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้
- มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีอาการบวมตามมือ เท้า หน้า
- ปวดศีรษะตรงท้ายทอย กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ถ้าอาการรุนแรงมากจะมีอาการชัก หรือ เลือดออกในสมอง
- ลูกดิ้นน้อยลง น้ำหนักไม่ได้ตามอายุครรภ์ หรือโตช้า
อันตรายจากครรภ์เป็นพิษที่เกิดกับคุณแม่
- อาจเกิดอาการชัก
- น้ำท่วมปอด
- ตาบอด ชั่วคราว หรือถาวร
- ปัสสาวะน้อยลง ไตอาจวายได้
- มีน้ำคั่งในปอดทำให้หายใจลำบาก
- มีเลือดออกในสมองอาจทำให้เสียชีวิตได้
อันตรายจากครรภ์เป็นพิษที่เกิดกับลูกในครรภ์
- เลือดไปเลี้ยงมดลูกน้อยลง ทารกในครรภ์จะเติบโตช้า
- รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์
- หัวใจเต้นช้าลง อาจทำให้ทารกขาดออกซิเจน
การรักษาครรภ์เป็นพิษ
อาการครรภ์เป็นพิษจากการตั้งครรภ์นี้ ถ้าคุณหมอตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีอาการรุนแรงมาก คุณหมอจำเป็นต้องให้หยุดการตั้งครรภ์ทันที ถ้าคุณแม่ใกล้คลอด อายุครรภ์มากแล้วคุณหมอจะแนะนำให้ทำการคลอดก่อนกำหนด แต่ถ้าคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ยังน้อย คุณหมอไม่สามารถทำการให้คลอดก่อนกำหนดได้เนื่องจากน้ำหนักลูกน้อย และปอดยังทำงานไม่สมบูรณ์คุณหมอจะดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด นัดพบบ่อยมากเพื่อตรวจภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นจนกว่าจะถึงเวลาที่สามารถคลอดทารกได้ค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- ทารกในครรภ์เป็นหญิงหรือชาย เริ่มตอนไหน?[วีดีโอ]
- ปวดท้องขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องกังวลหรือไม่
- ตั้งครรภ์เป็นตะคริวเกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร