อาการตะคริว เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยมากกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ และจะเป็นมากกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ในไตรมาสที่ 3 อาการของตะคริวมักเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนแปลง ระบบหมุนเวียนของเลือดช่วงขาทำงานผิดปกติ และการขาดวิตามินและแร่ธาตุบางอย่าง และอีกหลายสาเหตุ
คุณแม่ที่มีอาการตะคริว สามารถลดอาการนี้ให้น้อยลงได้ด้วยการทานอาหารดังนี้
1.กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง:
เช่น นม ชีส โยเกิร์ต งา เต้าหู้ ถั่วเหลือง ปลากระป๋อง ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี ถั่วพู คะน้า เพราะแคลเซียมจะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อทำงานได้ดี อาการตะคริวจะลดลงค่ะ
2.ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว:
เพราะถ้าร่างกายขาดน้ำจะทำให้เกิดอาการตะคริวได้ง่าย สังเกต คุณแม่จะเป็นตะคริวกันมากตอนเช้าหลังตื่นนอน นั่นเพราะว่าตอนกลางคืนไม่ได้ดื่มน้ำอะไรเลย และคุณแม่บางคนก็ไม่อยากดื่มน้ำก่อนนอน เพราะจะทำให้ปัสสาวะบ่อย รบกวนการนอนนั่นเองค่ะ
3.ทานอาหารที่มีแมกนีเซียมให้เพียงพอ:
เช่น อัลมอนด์ มันเทศ อินทผลัม ลูกเกด ส้ม สับปะรด ฟักทอง ถั่วแดง เป็นต้น เพราะแมกนีเซียมช่วยปรับสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อยืดและหดตัวได้ดีค่ะ
4.ผักและผลไม้:
ในผักและผลไม้มีสารอาหารที่สำคัญทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ดีคือ โพแทสเซียม อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงคืออาหารที่ให้สีแดง สีเขียว สีเหลือง เช่น ฟักทอง แครอต มะเขือเทศ ตำลึง ทุเรียน กล้วย ส้ม มะละกอ ลูกพรุน ฝรั่ง โกโก้ เป็นต้น
5.ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใน 1 มื้อ:
คุณแม่ควรเลือกกินอาหารที่หลากหลาย ไม่ควรกินแต่อาหารที่ชอบ ในแต่ละมื้อควรดูให้ดีว่ากินครบตามหลักอาหาร 5 หมู่หรือไม่ ถ้าคุณแม่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม อาการตะคริวจะทุเลาลงได้ค่ะ
อาการตะคริว เกิดกับคุณแม่ทุกคน บางคนอาจเป็นมาก บางคนอาจเป็นน้อย ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองและเรื่องการทานอาหาร และอาการนี้มักจะเกิดตอนคุณแม่เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- ตั้งครรภ์เป็นตะคริวเกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร
- 12 อาการเหล่านี้คุณแม่ไม่ควรละเลยระหว่างตั้งครรภ์
- 5 สาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ชอบมีอาการปวดหลัง?